ศาลาว่าการกทม. 21 มิ.ย.- ปรับจริง! นำร่องแล้ว 5 จุด กล้องตรวจจับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า เตรียมขยายให้ครบ 100 จุดทั่ว กทม. หวังช่วยปรับพฤติกรรม ขอทางเท้าให้คนเดิน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ แถลงข่าว “ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องปรามขับขี่บนทางเท้า” โดยได้พาชมการเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร (ห้องCCTV) ที่มีระบบ AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติ ของผู้กระทำผิดจากการฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า รถจักรยานยนต์ขี่บนทางเท้าเป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ที่ผ่านมาใช้เทศกิจช่วยสอดส่อง จับปรับผู้ทำผิด ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน และมีข้อกังวลเรื่องความโปร่งใส กทม.จึงนำเทคโนโลยีระบบประมวลภาพ AI ซอฟต์แวร์มาเชื่อมต่อกับระบบกล้องที่มีอยู่เดิม ให้สามารถตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้า กล้องอ่านทะเบียนรถ บันทึกข้อมูลผู้กระทำผิดและจะส่งใบเสียค่าปรับ 2 พันบาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดยตั้งเป้าติดตั้งทั่ว กทม. 100 จุด และได้นำร่องใช้แล้ว 5 จุด คือ ปากซอยรัชดาภิเษก36 ปากซอยเพชรเกษม28 หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ ปากซอยเพชรบุรี 9 และ ปั๊มปตท.เทพารักษ์ โดยยกตัวอย่างในซอยรัชดา36 ที่ติดตั้งในช่วง 2 เดือน พบคนทำผิดแล้วเกือบ 3 พันคน ช่วงเวลาที่ทำผิดสูงสุด คือ ช่วง 8 โมงเช้า และ 5 โมงเย็น
ช่วงที่ผ่านมา กทม.มีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดขี่รถบนทางเท้า กทม.จากการที่ให้เทศกิจไปตั้งโต๊ะในจุดที่พบการทำผิดบ่อยๆ ทั่วกทม. มีการพบผู้ทำผิด 799 ราย เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 778 ราย จากนี้ ก็จะมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการตรวจจับ
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อไปจะมีการประสานข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อกับระบบของกรมขนส่งทางบกต่อไป กรณีผู้ทำผิดแล้วไม่ยอมมาจ่ายค่าปรับก็จะไปต่อทะเบียนไม่ได้ อย่าคิดว่าเผลอแล้วไม่มีใครเห็น เพราะมีข้อมูล ยิ่งหากทำผิดซ้ำๆ ก็จะบันทึกไว้ ซึ่งหากเป็นไรเดอร์ อาจกระทบกับอาชีพการทำงาน เพราะข้อมูลจะแยกแยะมาได้หมดว่าเป็นรถจากไรเดอร์เจ้าไหน ทั้งนี้ กทม.หวังเป็นแนวทางช่วยปรับปรุงผู้ทำผิดขี่รถบนทางเท้า เปลี่ยนจิตสำนึกให้คนตระหนัก ซึ่งก็ไม่ได้ใช้งบอะไร โดยปีนี้ กทม.จะขยายผลการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนการบริหารจัดการปัญหาจราจร ซึ่งมีการปรับใช้ กล้อง AI ตรวจจับรถจอดในพื้นที่ห้ามจอด มีการใช้แล้ว เช่น บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบว่า กลุ่มที่กระทำผิดขับขี่บนทางเท้า มากที่สุด คือกลุ่มไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซต์และจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งในส่วนของวินจักรยานยนต์ กทม. ที่มีบนทางเท้าเยอะมากเป็นพันจุด กทม.ก็ขอความร่วมมือ หากจะรับผู้โดยสารอย่ารับบนทางเท้า.-สำนักข่าวไทย