11 ก.พ. – องค์การอนามัยโลก ยกย่องบุคลากรสาธารณสุขไทย มอบรางวัล “Sasakawa Health Prize” ประจำปี 2566 ให้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ผู้มีบทบาทป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 152 ได้ประกาศรับรองให้บุคลากรสาธารณสุขไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ได้รับรางวัล Sasakawa Health Prize ประจำปี 2566 โดยจะมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ในเดือนพฤษภาคม 2566
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกองการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก ได้เสนอชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อเข้ารับรางวัล Sasakawa Health Prize จากบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย โดยริเริ่มการรณรงค์ “เลือกคู่ เลือกครรภ์ เลือกคลอด ปลอดธาลัสซีเมีย” เพื่อลดความชุกของโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณบดีและผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ริเริ่มโครงการ “ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ช่วยให้ประชาชนปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงเป็นการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงขั้นพื้นฐานที่สามารถลดอัตราการรับประทานยา ประหยัดค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลของประชาชน และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังได้ผลักดันให้สถาบันพระบรมราชชนก รับสมัครนักเรียนมัธยมปลายที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนและพื้นที่ห่างไกลจากการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมในหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถกลับไปดูแลประชาชนในภูมิลำเนา และยังสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการให้การดูแลประชาชนในชุมชน
สำหรับรางวัล “Sasakawa Health Prize” ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ตามความคิดริเริ่มและด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิ Sasakawa Memorial Health Foundation เพื่อมอบให้กับบุคคล สถาบัน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านนวัตกรรมที่โดดเด่นในการพัฒนาบริการปฐมภูมิ ซึ่งที่ผ่านมา มีบุคลากรสาธารณสุขของไทยได้รับรางวัล Sasakawa Health Prize จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อมร นนทสุต ในปี 2529 และนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ในปี 2565 .-สำนักข่าวไทย