กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – ผู้ว่าฯ กทม. เผยพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) ค่าฝุ่นสูงอีกวัน แนะประชาชนป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากาก ดันทุกฝ่ายร่วมกันตามแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นที่เป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ กทม. ขยายเวลาให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.ในสังกัดทั้ง 5 แห่ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. วันนี้ (2 ก.พ.) ที่มีค่าสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบุว่า ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ มีแผนต้องดำเนินการร่วมกันทุกภาคส่วน ส่วนของ กทม. ดำเนินการตามแนวทาง คือถ้าฝุ่นมีค่าเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกันเกิน 3 วัน รวมการคาดการณ์ ซึ่งพอเห็นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าค่าฝุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงมีการร่วมประชุมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อประกาศแนวทางการ Work from Home
ส่วนโรงเรียนยังไม่ปิด เพราะเชื่อว่าหากนักเรียนอยู่โรงเรียนจะดูแลได้ดีกว่า หากประกาศปิดทันทีจะเป็นภาระของผู้ปกครอง อย่างน้อยมาโรงเรียนนักเรียนยังต้องมีการใส่หน้ากาก
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า อย่างวันนี้ (2 ก.พ) ช่วงค่าฝุ่นจุดสูงสุดช่วง 10 โมง จากนั้นเริ่มลดลง แต่ยังเกินมาตรฐาน เชื่อว่าพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) ค่าฝุ่นจะยังสูงอยู่ คาดจะบรรเทาลงช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ โดยข้อดีของปีนี้คือมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าได้แม่นยำ ปัจจุบันสิ่งสำคัญสุดคือประชาชนป้องกันตนเองไว้ก่อนโดยการใส่หน้ากาก
ส่วนต้นตอของฝุ่นจะต้องร่วมกันช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งสาเหตุหลักต้นตอมาจากทั้งไอเสียจากรถยนต์และการเผาชีวมวล ในครั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากการเผาชีวมวล อย่างที่มีการรายงานจาก คพ. ว่าพบจุดฮอตสปอต 1,200 จุดทั่วประเทศ ที่มีการชิงเผาก่อนในช่วงนี้ ก่อนจะมีการประกาศห้ามเผาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงจุดฮอตสปอตที่ลมพัดฝุ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย การจะแก้ปัญหาสองจุดนี้ต้องมีการบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า เรื่องลดการเผา กทม. ก็ทำเต็มที่ มีการเข้าไปคุยกับเกษตรกรรายบุคคล ทำให้ที่เขตมีนบุรี หนองจอก พบการเผาที่ลดลงไปมาก แต่หากมีการเผาอยู่นอกพื้นที่ กทม. ก็นอกเหนืออำนาจที่จะเข้าไปจัดการได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ ส่วนมาตรการอื่นๆ เรื่องการช่วยลดฝุ่น ที่ผ่านมาทำเต็มที่ ทั้งการตรวจไซต์งานก่อสร้าง แพลนท์ปูน การตรวจรถควันดำ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในระยะยาวสถานการณ์ PM 2.5 จะดีขึ้น หากทุกหน่วยงานร่วมกันทำตามแผนแม่บทวาระแห่งชาติที่วางแนวทางไว้
ขณะที่ปัจจุบัน กทม. มีบริการคลินิกมลพิษทางอากาศเปิดดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งกระจายทั่วทั้งพื้นที่ จากสถานการณ์ฝุ่นที่เพิ่มขึ้น จึงได้ขยายเวลาเปิดให้บริการของคลินิกมลพิษทางอากาศ ในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คลินิกทั้ง 5 แห่งจะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 1-4 ก.พ. 66 ที่จะมีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเชิงรุกในพื้นที่
ทั้งนี้ จากสถิติประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข จะพบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเรื่องฝุ่นละอองเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อสุขภาพ คลินิกมลพิษทางอากาศที่เปิดให้บริการนี้จะทำการคัดกรองอาการ ให้คำแนะนำและการรักษา รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและให้ข้อแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีการให้บริการผ่านคลินิกออนไลน์ โดยประชาชนสามารถคัดกรองประเมินอาการตนเองในเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 .-สำนักข่าวไทย