กรุงเทพฯ 7 ม.ค. – กระทรวง อว. ยืนยัน ม.เอกชน ที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ มีการกำกับควบคุมโดย กกอ.-กมอ. และกฎหมายอีกหลายชั้น ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา ต้องถูกประเมินทั้งระดับสถาบันและหลักสูตรตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.66 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเรื่องการเข้ามาถือหุ้นของทุนจากต่างประเทศในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น ซึ่งในปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น โดยมีผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน คือ 1) ม.เกริก 2) ม.เมธารัถย์ และ 3) ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ม.เกริก ทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี เป็นคนไทย มีกรรมการสภาฯ ที่เป็นชาวจีนประมาณ 17% ม.เมธารัถย์ ทั้งนายกสภาฯ และอธิการบดี เป็นชาวจีน กรรมการสภาฯ เป็นชาวจีนประมาณ 40% ในขณะที่ ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด เดิมผู้ถือหุ้นเป็นชาวสิงคโปร์ แต่ได้เปลี่ยนเป็นชาวจีน มีนายกสภาฯ เป็นชาวจีน อธิการบดีเป็นคนไทย และมีกรรมการสภาฯ เป็นชาวจีนประมาณ 40%
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแทนภาครัฐ ต้องได้รับการรับรองวิทยฐานะใน 2 ระดับ โดยมีวงรอบ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2558 ได้แก่ 1) ระดับสถาบัน ซึ่งจะพิจารณาผลการดำเนินงานในระดับหลักสูตรด้านการกำกับมาตรฐาน และองค์ประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ ยังพิจารณามาตรฐานศักยภาพและความพร้อมในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย ด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารจัดการ และมาตรฐานด้านการดำเนินการตามภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ 2) ระดับหลักสูตร ซึ่งจะพิจารณาจากการจัดการศึกษาที่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา
สำหรับการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่งข้างต้น ม.เกริก และ ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ส่วน ม.เมธารัถย์ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการรับรองวิทยฐานะของ อว.
“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารอย่างไร ก็ต้องถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยอย่างเคร่งครัด โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษาของไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหลักสูตร คุณสมบัติอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องถูกประเมินเพื่อรับรองวิทยฐานะ และรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาระดับหลักสูตรเป็นระยะๆ ตามที่กฎหมายกำหนด” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว. – สำนักข่าวไทย