สธ. 5 ม.ค.- ปลัด สธ. แจงให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าไทย ทำในประเทศต้นทางที่กำหนดตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ เพื่อป้องกันปัญหานักท่องเที่ยวป่วยและตกค้างในไทย กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายกับทั้งตัวนักท่องเที่ยวและประเทศไทย โดยให้ คปภ.พิจารณาวงเงินซื้อประกันขั้นต่ำ ย้ำการพิจารณาเรื่องมาตรการโควิดไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน และยึดความปลอดภัย โดยในผู้ประกอบการให้บริการใช้มาตรฐาน SHA+
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประชุมร่วม 4 กระทรวง (สธ., คม. ,ทท. และ กต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวจีน เข้าไทย หลังจีนเปิดประเทศ และการเดินทาง ว่าเกณฑ์การพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้จำเพาะว่าสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง และขอย้ำว่าสถานการณ์โควิด-19 นี่เข้าก็ปีที่ 4 แล้ว ฉะนั้นจะใช้อารมณ์มาตัดสินไม่ได้ โดยการใช้การพิจารณาครั้งนี้เป็นคณะกรรมการวิชาการจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ ยึดตามข้อมูลการปฏิบัติได้จริง และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ คือ ยึดความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก และหากวิเคราะห์ดู 1.เชื้อไวรัสโอไมครอนอยู่กับเรามานานแล้ว ส่วนเชื้อ BA.5 ที่พบในจีน ไทยก็เจอมาก่อนแล้ว 2.ภูมิคุ้มกันของไทยก็มีแล้ว ทั้งติดเชื้อเอง และได้รับวัคซีน 3.เวชภัณฑ์ยาก็มีพร้อม และ 4.หากมีการประเมินนักท่องเที่ยวก่อนเข้าไทยต้องได้รับวัคซีน ซึ่งก็สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก แต่หากประเทศใดมีเงื่อนไข ทั้งต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางออกจากประเทศ และตรวจก่อนเดินทางกลับประเทศนั้น ก็อาจทำให้มีนักท่องเที่ยวตกค้างในไทยได้ ดังนั้น จึงขอให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานั้น ต้องทำประกันสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเหยียบแผ่นดินที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณา เพื่อไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประเทศไทยในด้านสุขภาพ
นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเห็นว่าบทเรียนจากในอดีต ที่ไทยเคยต้องรับนักท่องเที่ยวที่ป่วยและกลับประเทศไม่ได้ ต้องอยู่ในไทยมาก่อน ฉะนั้นการให้มีการซื้อประกันสุขภาพ จึงเป็นหนทางที่ดีกับทุกฝ่าย มาตรการนี้ใช้กับนักท่องเที่ยวทุกประเทศที่มีการเดินทางเข้ามา แล้วประเทศของตนเองกำหนดก่อนกลับต้องตรวจ RT-PCR ซึ่งรายละเอียด คปภ.จะมีการพิจารณาวงเงินประกันขั้นต่ำ ส่วนในคนไทย ที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการให้บริการ หรือในจังหวัดท่องเที่ยว ก็ขอให้ใช้มาตรฐาน SHA+ และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น มาตรการการระบายอากาศ ขอย้ำว่าการดูแลมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อให้คนไทยปลอดภัย และเป็นมาตรฐานสากล ที่ดูภาพรวม ขอให้มั่นใจกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประมาท และไม่ได้เลือกปฏิบัติ สำหรับการฉีดวัคซีนให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะรับวัคซีนก็มีให้เพียงพอ แต่ขอย้ำว่าเป็นการเก็บค่าบริการ เหมือนกับการดูแลแบบเมดิคัลฮับ
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการเก็บน้ำใช้บนเครื่องบินเพื่อดูเชื้อโควิด ต้องขออธิบายว่าเป็นวิธีดูเศษชิ้นส่วนของเชื้อไวรัส สามารถมาใช้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจ แต่ในส่วนตัวมองว่าเจอแแล้วจะทำอะไรได้ เพราะวิธีการนี้เป็นเพียงการสุ่มตรวจเครื่องบิน ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ว่าต้องเป็นเครื่องบินมาจากประเทศอะไร และต้องสุ่มตรวจทั้งตะวันตกและตะวันออก การตรวจลักษณะนี้แค่บอกว่าในเครื่องบินมีซากเชื้อของโควิด แต่อยากให้คิดว่า ตอนนี้เชื้อทุกประเทศทั่วโลกก็มีเหมือนกันหมด ไม่ได้มีประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือหากไปสุ่มตรวจที่ รพ.ก็คงเจอเชื้อเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย