สธ. 10 ต.ค. – อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะแม่ผู้ก่อเหตุออกจากพื้นที่เลี่ยงปะทะ หลังคนในชุมชนขับไล่ เหตุสะเทือนใจเห็นหน้านึกถึงเหตุการณ์ เบื้องต้นสั่งนักจิตวิทยาตามประกบ ขณะเดียวกันผลการสำรวจจิตใจญาติผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต มี 10 คน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง พร้อมวอนเลี่ยงใช้คำว่า “กราดยิง” หวั่นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แบ่งการดูแลสภาพจิตใจทั้งครอบครัวผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต 37 ครอบครัว โดยเน้นการเข้าดูแลแบบ 3 ระยะ คือ 1.แบบทันที 2.ดูแลแบบต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันบาดแผลทางใจ แต่ห่วงว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแล และกลับไปดำเนินการปกติ ครอบครัวผู้สูญเสียต้องอยู่ลำพังอาจต้องเผชิญกับภาวะโดดเดี่ยว 3.ต้องดูแลต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน เบื้องต้นพบผู้ได้รับผลกระทบทางตรง 170 คน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 10 คน ส่วนกรณีชาวบ้านในพื้นที่ไล่แม่ผู้ก่อเหตุออกจากหมู่บ้าน อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ครอบครัวผู้ก่อเหตุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเองเช่นกัน ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนั้น การหลบเลี่ยงแยกตัวออกจากพื้นที่อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการลดการปะทะ และถือว่าเป็นการเลี่ยงที่ต้องเผชิญกับเรื่องเสียใจ
พญ.อัมพร กล่าวว่า จากนี้ขอให้สื่อมวลชนและทุกฝ่ายเลี่ยงใช้คำว่า “เหตุกราดยิง” เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันเหตุการณ์เลียนแบบ และไม่ให้เกิดการตีตราชาวหนองบัวลำภู เกิดการฉายภาพซ้ำ โดยขอให้คำว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่… เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ไปด้วย ส่วนกรณีผู้ปกครองยังหวาดระแวงไม่อยากนำลูกหลานไปโรงเรียน ยอมรับว่าเป็นธรรมดา โดยเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องฝืน และในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจ มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันในพื้นที่ ทั้งผู้ปกครองและครู พร้อมเตรียมแกะรอยชันสูตรทางด้านจิตใจ เพื่อสาเหตุความรุนแรง แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา.-สำนักข่าวไทย