fbpx

เตือนภาคกลางรับมืออิทธิพล “โนรู” คาดน้ำลงเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ล้าน ลบ.ม.

กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-“เสรี ศุภราทิตย์” เตือนภาคกลางรับมืออิทธิพลพายุ “โนรู” คาดมีน้ำไหลลงเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องเร่งระบายออกต่อเนื่องเป็น 10 วัน ในอัตรา 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที บางพื้นที่อย่างอยุธยา อาจน้ำท่วมยาวไปจนถึงปีใหม่


ในงานเสวนาหัวข้อสภาวะอากาศสุดขั้ว? รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า จากการติดตามข้อมูลเรื่องสภาพอากาศ “พายุโนรู” วันนี้ช่วง 14.00 น. เคลื่อนผ่าน จ.เพชรบูรณ์ แม้จะอ่อนกำลังลง แต่ก็ยังทำให้เกิดฝนตกหนักลมแรงอยู่ โดยจะสิ้นสุดในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม ที่จะเคลื่อนตัวผ่าน จ.เชียงใหม่ เชียงราย

สำหรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดอิทธิพลของพายุโนรู ในส่วนของเขื่อนป่าสัก ต้องรอดูอิทธิพลจากพายุโนรูเมื่อเข้าสู่ จ.เพชรบูรณ์ ในช่วงบ่ายวันนี้ด้วยว่าจะสร้างผลกระทบหนักขนาดไหน โดยขณะนี้เขื่อนป่าสักมีน้ำอยู่ราว 400 ประเมินว่าอิทธิพลจากพายุลูกนี้จะทำให้มีน้ำลงมา 600 ซึ่งความสามารถที่เขื่อนป่าสักรับได้คือ 900 ฉะนั้นถ้าสมมุติมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม./วินาที เขื่อนป่าสักปล่อยลงมาอีก 1,000 ลบ.ม./วินาที กลายเป็น 3,500 ลบ.ม./วินาที ก็จะส่งผลกระทบวิกฤตต่อพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สถานการณ์ขณะนี้จึงไม่ยังน่าไว้ใจ พร้อมย้ำอย่าไปยึดติดเฉพาะกับตัวเลขปริมาณน้ำ แม้ตัวเลขจะน้อยกว่านี้ แต่ก็สร้างความเสียหายแล้ว จึงควรให้ความสำคัญกับระดับน้ำมากกว่าปริมาณน้ำ


ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอิทธิพลจากพายุโนรูจะทำให้มีน้ำไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยาราว 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการระบายน้ำออกอย่างน้อย 10 วัน ถ้าไม่มีพายุลูกอื่นเข้ามาเพิ่ม ในอัตราการระบายที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที หรือ 3,000 ลบ.ม./วินาที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะหนักกว่าปี 54 เพราะปริมาณน้ำน้อยกว่า แต่มันอยู่ในระดับถึงจุดที่สร้างความเสียหายได้แล้ว

ในช่วง 15 วันนี้ต่อจากนี้ จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะพัฒนาไปเป็นพายุหรือเปล่า แต่ระยะสั้นที่สุดช่วง 1-3 ต.ค.นี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนตกหนัก จากหย่อมความกดอากาศต่ำในอันดามันและอ่าวไทย ฉะนั้นควรต้องวางแผนให้ดี จากนั้นก็จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาอีกเรื่อยๆ ส่วนจะรุนแรงเพียงใด ยังต้องรอประเมินสัปดาห์ต่อสัปดาห์

สำหรับปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิด 23 ลูก ขณะนี้เกิดไปแล้ว 15-16 ลูก เหลืออีก 7 ลูก แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าประเทศไทยสักเท่าไร ขณะที่ความรุนแรงในภาพรวม จำนวนพายุที่จะเกิดไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ในจำนวนพายุ 20 กว่าลูก เมื่อก่อนอาจเคยเป็นพายุไต้ฝุ่นสัก 7 ลูก อนาคตจะเพิ่มเป็นไต้ฝุ่นสัก 8-9 ลูก และพัฒนากลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น โดยจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 20% เราอาจจะเจอคล้ายกับพายุไต้ฝุ่นเกย์ และลินดา เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้บ่อยขึ้น


ที่น่าห่วงคือ พื้นที่ภาคกลาง ปีนี้น้ำมาเร็ว อย่างอยุธยาถูกน้ำท่วมมาแล้วเกือบ 2 เดือน แล้วมาเจอกับพายุโนรูอีก นอกจากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่แล้ว ซึ่งต้องมารับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอีกเป็น 10 วัน ยังไม่รวมกับพายุลูกใหม่ หรืออิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำอื่นๆ อีก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมยาวนาน ซึ่งอาจนานไปถึงช่วงปีใหม่ก็เป็นได้

ความแตกต่างของสถานการณ์น้ำในปีนี้กับปี54 คือ เมื่อปี 54 ฝนตกหนักมากทางภาคเหนือ ไหลลงแม่น้ำ แล้วก็หลากเข้าทุ่งต่างๆ สร้างความเสียหายเรื่อยมาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และยังมาเสริมด้วยเขื่อนต่างๆ ที่เร่งระบายน้ำออกอีก จึงทำให้น้ำท่วมหนัก แต่สำหรับปีนี้ไม่มี ภาคเหนือฝนตกน้อย แต่ฝนจะมาตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง น้ำจากทุ่งต่างๆ จะหลากลงแม่น้ำ พอหลากเข้ามาแล้วมาเจอกับพนังกั้นน้ำ ก็ระบายออกไม่ได้ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบออก ในขณะเดียวกัน เมื่อน้ำระบายออกไม่ได้ ก็จะไหลลงมาที่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ต้องมาสู้กันที่คลองรังสิต ที่เร่งสูบน้ำแบบเต็มกำลัง และคลองมหาสวัสดิ์ ที่พยายามเร่งระบายออกไปยังแม่น้ำท่าจีน เช่นเดียวกับคลองพระยาบันลือ ที่ต้องผันน้ำออกไปทางอื่น ฉะนั้นปีนี้ฝั่งแม่น้ำท่าจีนจะรับศึกหนัก เพราะจะมีการระบายน้ำออกไปทางโน้น เนื่องจากระบายออกทางขวาไม่ได้ เพราะมีพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ ไทยยังไม่ได้มีเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม มีแต่การเร่งสร้างถนนและคันกั้นน้ำ ซึ่งยิ่งไปกีดขวางทางระบายน้ำ ฉะนั้นต่อจากนี้ควรเลิกสร้างถนนและคันกั้นน้ำสักที ควรทำให้คันมันกว้างและขยายขึ้น ให้น้ำมีพื้นที่ในการระบายออกได้มากขึ้น ตัวอย่างที่สิงคโปร์ ในพื้นที่เศรษฐกิจเขาทุบคันกั้นน้ำทิ้งหมด และสร้างสวนสร้างพื้นที่รับน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจแทน ซึ่งก็ช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมลงได้ ในอนาคตเราควรกลับไปสู่แนวทางที่ดูว่าธรรมชาติของพื้นที่สามารถรับได้สูงสุดเท่าไร

ในส่วนของการจัดการน้ำท่วม เรายังมีช่องว่าง เช่น พายุโนรู ปัญหาคือเรารู้ว่าพายุจะมา ฝนจะตกหนัก แต่ไม่รู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่จะถูกน้ำท่วมหรือเปล่า ท่วมระดับไหน ท่วมเท่าไร ท่วมนานเท่าไร หน่วยงานยังเกี่ยวกันอยู่หรือเปล่า แต่ถ้าเทียบกับเมืองในต่างประเทศ แผนที่น้ำท่วมเขาออกมาแล้ว มีการส่งให้ประชาชนรับทราบผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ต้องหาเจ้าภาพให้เจอว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานไหน ในส่วนตัวมองว่า ท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่ส่วนนี้ เพราะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ส่วนขาดเครื่องมืออะไรก็ควรมีการร้องขอเข้ามา

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะน่ากังวลตรงน้ำไม่ได้มาเหมือนตอนปี 54 แต่จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ น้ำสูบออกลงคลองไม่ทัน น้ำก็ท่วม อาจจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ แต่จะไม่ยาวนานเป็น 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของพายุโนรูนั่นกระทบโดยตรงในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งสุดท้ายน้ำจะไหลมาบรรจบในพื้นที่ภาคกลาง ต้องเตรียมรับน้ำเหนือที่จะหลากมาในอีก 10 วันหลังจากนี้ สิ่งสำคัญคือ ขอเสนอให้แต่ละจังหวัดเตรียมตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแล และเป็นแหล่งข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดข่าวลวงจนสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นในสังคม.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เศร้ารับวันแรงงาน! โรงงานประกาศปิดกิจการกะทันหัน

พนักงานโรงงานผลิตกระจกเก่าแก่ใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ ให้นายจ้างจ่ายชดเชยตามกฎหมาย หลังโรงงานติดประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

“อธิบดีกรมโรงงาน” ลาออกแล้ว ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้

“จุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยื่นหนังสือลาออก ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้ เจ้าตัวเผยน่าจะมีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ผู้บริหารจะได้หาคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน

ข่าวแนะนำ

ความหวังแรงงานไทย ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำสู่ค่าจ้างเพื่อชีวิต

ทุกปีในวันแรงงาน จะมีการรวมตัวของสภาองค์การลูกจ้างและพัฒนาแรงงาน กลุ่มต่างๆ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งปีนี้แรงงานหวังจะมีความมั่นคงในด้านระบบสวัสดิการ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

“อธิบดีกรมโรงงาน” ลาออกแล้ว ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้

“จุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยื่นหนังสือลาออก ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้ เจ้าตัวเผยน่าจะมีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ผู้บริหารจะได้หาคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน

เศร้ารับวันแรงงาน! โรงงานประกาศปิดกิจการกะทันหัน

พนักงานโรงงานผลิตกระจกเก่าแก่ใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ ให้นายจ้างจ่ายชดเชยตามกฎหมาย หลังโรงงานติดประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

แรงงานทั่วไทยเดินขบวนเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาล

วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในปีนี้ มีการจัดกิจกรรมเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลหลายจุด โดยพื้นที่หลักอยู่ที่ตลอดแนวถนนราชดำเนิน และลานคนเมือง