10 ส.ค. – จับตาสถานการณ์น้ำ ภาคเหนือ-อีสานฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วมขังหลายจังหวัด ทั้งที่พิจิตรและขอนแก่น ขณะที่กรมชลประทานปรับแผนระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเจ้าพระยา ไม่ให้กระทบพื้นที่เกษตรช่วงเก็บเกี่ยวและกรุงเทพมหานคร
จ.ขอนแก่น ฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดคืน น้ำระบายลงสู่คลองร่องช้า ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมขัง อย่างถนนมิตรภาพขาล่องมุ่งหน้า จ.อุดรธานี หน้าตำรวจทางหลวงขอนแก่น มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ทำให้ต้องปิดการจราจรช่องคู่ขนานชั่วคราว ตั้งแต่ปากซอยสวัสดี ถึงหน้าตำรวจทางหลวงขอนแก่น ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนที่หมู่บ้านพิมานศิลป์ ชุมชนหนองแวง เขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมถนนตะวันใหม่สูงกว่า 60 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กมากั้นไม่ให้รถสัญจรผ่าน และเตรียมนำเครื่องสูบน้ำระยะไกลช่วยสูบน้ำออกจากหมู่บ้าน
กรมชลฯ ทยอยปรับการระบายน้ำเขื่อนป่าสัก-เจ้าพระยา
ขณะที่กรมชลประทานได้ทยอยปรับการระบายน้ำในเขื่อนป่าสักและเจ้าพระยา โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) เวลา 12.00 น. จากอัตรา 80.72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอัตรา 120.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำของเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำ 409.10 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น42.61% ของความจุ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค. จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลาน สำหรับการปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 80.72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 120.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้อัตราการระบายต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 6.97 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 10.41 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่ 127.4ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือ 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ด้านนายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ฝนที่ตกบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ จะเพิ่มขึ้น 1,000 – 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี แล้วปริมาณน้ำที่ไหลมารวมกันหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยูที่ 1,000 -1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงเร่งระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ 700 – 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 700-1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังคงเป็นพื้นที่เดิม คือ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) น้ำจะสูงขึ้น 20-80 เซนติเมตร
สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังไม่มีผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เพราะมีการควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร ไม่ให้เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านยังต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมมาก. – สำนักข่าวไทย