นครราชสีมา 10 ก.ค.-ชาวบ้านตำบลหมูสี อ.ปากช่อง กว่าพันคน ลุกฮือต้านเหมืองแร่หินอ่อน หวั่นมลพิษกระทบวิถีชีวิตและการท่องเที่ยวรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและข้อกังวลนำเสนอต่อไป
อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เชิญชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รอบแนวเขตการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อทำประชาพิจารณ์ โดยก่อนถึงเวลาประชุม นายณัฐพัชร์ ทำสวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 บ้านท่าช้างใต้ พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบลหมูสี รวมทั้งชาวบ้านและเยาวชนกว่าพันคน รวมตัวกันที่ลานวัดท่าช้างชูป้ายคัดค้านนายทุนยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน ที่ขอจดทะเบียนไว้บนเนื้อที่กว่า 202 ไร่ บริเวณหมู่ 12 บ้านท่าช้างใต้ ซึ่งพบว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาหินอ่อน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทอดยาวไปหลายหมู่บ้าน อีกทั้งมีวัด โรงแรม รีสอร์ต สนามกีฬาระดับชาติ สนามกอล์ฟและแหล่งท่องเที่ยวอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
จากนั้นร่วมกันถือป้ายคัดค้านเดินมาตามถนนจนถึงก่อนลงทะเบียน ผ่านจุดคัดกรองแล้วเข้าห้องประชุม มีนายชัยทัต สมิตินนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา ออกมาพูดคุยรายละเอียดถึงการทำเหมืองแร่หินอ่อน ยืนยันจะไม่มีการระเบิดหินส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน และจะดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านทุกรายที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อกังวล ทุกคนแสดงออกว่าคัดค้านการทำเหมืองแร่ เนื่องจากตำบลหมูสี มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก ที่มีธรรมชาติงดงามบริสุทธิ์ที่สุด เป็นพื้นที่สร้างเศรษฐกิจ และนำร่องด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา หากมีการทำเหมืองแร่หินอ่อน จะเกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง มลพิษทางเสียง การขุดเจาะ การระเบิดหิน ถนนหนทางทรุดโทรม เสียหาย กระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำไต้ดิน สายน้ำลำตะคองที่ไหลลงมาจากอุทยานฯ เขาใหญ่ ลงเขื่อนลำตะคอง เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่มีบ้านอยู่รอบแนวเขตในรัศมี 500-600 เมตร คงอยู่ไม่ได้
ที่สุดแล้วนายชัยทัต สมิตินนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจอนุญาต วันนี้มารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เมื่อทุกคนคัดค้าน ก็จะนำความคิดเห็นทั้งหมดรายงานต่ออธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ภายใน 15 วัน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย