นครศรีธรรมราช 16 ธ.ค. – เมืองคอนระทึก! กุฏิวัดป่าเรียน สูง 3 ชั้น พังถล่มลงมาทั้งหลัง คาดน้ำกัดเซาะใต้อาคาร หลังฝนตกหนักหลายวัน โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บ ขณะที่น้ำท่วมนครศรีฯ เข้าขั้นวิกฤติ ฝนยังตกหนักต่อเนื่อง ส่วนสุราษฎร์ฯ ยังอ่วม ล่าสุดประกาศเขตภัยพิบัติเพิ่มเป็น 9 อำเภอ
เกิดเหตุกุฏิวัดป่าเรียน ความสูง 3 ชั้น ทรุดตัวและพังถล่มลงมาทั้งหลัง ซึ่งมีญาติโยมบันทึกภาพไว้ได้ ขณะกำลังพังถล่มลงมา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช รายงานเบื้องต้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากน้ำกัดเซาะใต้อาคาร เนื่องจากฝนตกหนักหลายวัน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครศรีธรรมราช ยังคงน่าห่วง อ.ท่าศาลา กระแสน้ำเชี่ยวกรากซัดเสาไฟฟ้าโค่นล้ม ทำให้ไฟฟ้าดับในพื้นที่หมู่ 5-6 และน้ำหลากท่วมถนนท่าศาลา มุ่งหน้า อ.สิชล สองข้างทางและบนผิวจราจรเจิ่งนองไปด้วยน้ำ บางช่วงถนนขาด รถผ่านไม่ได้แล้ว เช่นเดียวกับถนนสายเอเชีย จาก อ.สิชล มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ถูกตัดขาดเป็นช่วงๆ รถเล็กผ่านไม่ได้ ต้องปิดการจราจรแบบ 100%
ล่าสุดบริเวณถนนนาพรุ-เบญจมฯ มีน้ำไหลเชี่ยวกราก พบนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งเดินทางมาจาก จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านเส้นทางดังกล่าว แต่ไม่ชำนาญเส้นทาง รถเสียหลักลงคูริมถนนที่มีน้ำท่วมสูง ทำให้รถจมน้ำ แต่ด้วยไหวพริบที่ได้เปิดกระจกรถไว้ จึงสามารถออกจากตัวรถและว่ายน้ำเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย
ส่วนที่ซอยนาวัด เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนลุ่มต่ำ ระดับน้ำลึกกว่า 1 เมตร พบร่างผู้เสียชีวิตเป็นชายไม่ทราบชื่อ ลอยตามน้ำไปติดอยู่ในซอย ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ จึงช่วยกันนำร่างขึ้นมารอญาติ ขณะที่บรรยากาศทั่วไปยังคงมีฝนตก แต่ไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนระดับน้ำจากเทือกเขาหลวงยังคงไหลเข้าสู่เขตเทศบาลฯ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-14 ธ.ค.67 มีพื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 21 อำเภอ จาก 23 อำเภอ อาทิ อ.ทุ่งสง อ.เมืองนครศรีฯ อ.จุฬาภรณ์ อ.สิชล อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด อ.ปากพนัง อ.หัวไทร รวม 130 ตำบล 1,056 หมู่บ้าน 59 ชุมชน ได้รับผลกระทบ 107,937 ครัวเรือน หรือกว่า 3 แสนคน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย จังหวัดประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
สุราษฎร์ฯ ยังอ่วม ฝนตกต่อเนื่อง ประกาศภัยพิบัติเพิ่ม 9 อำเภอ
ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ฝนยังตกต่อเนื่อง พื้นที่น้ำท่วมหนักสุดยังคงเป็น อ.กาญจนดิษฐ์ เพราะเป็นพื้นที่เขตรอยต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม โดยเฉพาะที่ ต.กรูด ระดับน้ำบางช่วงยังสูงและไหลเชี่ยว บางพื้นที่เริ่มลดลงบ้างแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งทยอยเข้าพื้นที่นำถุงยังชีพไปให้ผู้ประสบภัย แต่บางจุดเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง ชาวบ้านต้องใช้วิธีไต่เชือกออกมารับ
ขณะที่นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เรียกประชุมคณะทำงานโดยด่วน เพื่อเตรียมการช่วยเหลือ ทั้งเฉพาะหน้าและหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย พร้อมประกาศเขตภัยพิบัติเพิ่มเป็น 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.เกาะสมุย อ.เกาะพะงัน อ.บ้านนาสาร และ อ.ไชยา รวม 50 ตำบล 341 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 14,319 ครัวเรือน 28,809 คน ไม่มีผู้บาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
นอกจากนี้ เกิดเหตุสลด ดินโคลนถล่มทับ 2 พ่อลูก พ่ออาการสาหัส ส่วนลูกชายเสียชีวิต ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือพ่อออกมาได้ ขณะที่ลูกชายวัย 15 ปี ติดอยู่ใต้กองดิน คาดว่าช่วงเกิดเหตุน่าจะนอนหลับ หนีออกมาไม่ทัน โดยเหตุดินถล่มครั้งนี้ ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 5 หลัง และมี 3 หลัง ถูกดินถล่มทับเสียหายหนัก หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้อพยพชาวบ้านบางส่วนออกจากหมู่บ้าน พร้อมประกาศเป็นพื้นที่อันตราย เนื่องจากดินแดงไม่สามารถอุ้มน้ำต่อไป และมีดินถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในพื้นที่ยังมีฝนตกหนัก. – สำนักข่าวไทย