นครราชสีมา 29 ก.พ.- ท่ามกลางกระแสร้อนปมปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ แต่เมื่อเช้านี้ (29 ก.พ.67) เจ้าถิ่นตัวจริง ออกมาอวดโฉมให้เห็นบนพื้นที่พิพาท
เจ้าถิ่นที่ว่า ก็คือ “พลายด้วน” ออกมาปรากฏตัวให้เห็น เมื่อเช้านี้ ขณะที่ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาพื้นที่พิพาท ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ ส.ป.ก. บริเวณบ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยเจ้าพลายด้วน ออกมาเดินหาใบไม้กินตามแนวถนนรอบอุทยานฯ ไม่ไกลกันนัก ทีมข่าวยังพบช้างป่าอีกตัว คือ “พลายขุนศึก” กำลังลงแช่น้ำในลำห้วยอย่างสบายใจ ซึ่งตรงจุดแหล่งน้ำนี้เอง ก็มีแปลง ส.ป.ก.สวมทับด้วย ชาวบ้าน บอกว่า บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของเขา (ช้างป่า) ซึ่งจะออกมาให้เห็นเป็นประจำ ทั้งพลายด้วน พลายขุนศึก พลายเบี่ยงเล็ก และพลายแคระ แต่ที่เห็นบ่อยที่สุด คือ พลายด้วนและพลายขุนศึก
ทีมข่าวยังพบกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 2 คน ที่มาตรวจพื้นที่ป่ารายวัน และมีการจับพิกัดพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบการประชุมในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.67) ซึ่งนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน้าด่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เวลา 8 โมงครึ่ง จากนั้นจะเดินทางไปร่วมพิสูจน์แนวเขตบริเวณพื้นที่พิพาท หลัง 2 วันก่อน กรมแผนที่ทหารได้ออกมาเปิดเผยผลการพิสูจน์แนวเขต ว่า พื้นที่พิพาทเป็นของ ส.ป.ก. แต่จะใช้เป็นพื้นที่กันชน ไม่มอบให้ใครใช้ประโยชน์พื้นที่ เพราะยังมีสภาพเป็นป่า
จากการสำรวจดู พบว่าหลักฐานที่ปรากฏตรงริมถนนรอบอุทยานฯ มีหลักเขตดั้งเดิม ตั้งแต่ก่อตั้งอุทยานฯ ปี 2505 ซึ่งปั๊มตัวอักษร ย่อ กปม ที่หมายถึง กรมป่าไม้ ซึ่งเดิมอุทยานฯ อยู่ในสังกัดเดียวกัน เพิ่งมาแยกเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในปี 2545 จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในผลตรวจพิสูจน์แนวเขตของกรมแผนที่ทหาร .-สำนักข่าวไทย