ขอนแก่น 5 ก.พ. – ชาวบ้านฮืออ้างสิทธิฟอสซิลไดโนเสาร์ ที่พบในลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น นายอำเภอน้ำพอง และนายกเทศบาลตำบลม่วงหวาน แจงฟอสซิลไดโนเสาร์ไม่ได้เป็นของผู้ใด เป็นของแผ่นดิน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
จากกรณี น.ส.ศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ ยืนยันว่าซากดึกดำบรรพ์ หรือซากฟอสซิลที่พบในลำน้ำพองหลง พื้นที่บ้านโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นของแท้ อายุประมาณ 100 – 110 ล้านปี เป็นชิ้นส่วนกระดูกสันหลังและเศษกระดูก ส่วนสันหลัง ซี่โครง ซึ่งเป็นเศษไม่ได้เต็มชิ้น เบื้องต้นคล้ายไดโนเสาร์จำพวกกินสัตว์ แต่จะต้องศึกษาวิจัยยืนยันอีกครั้งก่อน ตอนนี้ได้เก็บชิ้นส่วนที่แตกหักมาศึกษา และเป็นแหล่งอ้างอิงว่า ณ บริเวณนี้ก็มีร่องรอยและมีการค้นพบ แต่เนื่องจากพบเพียงเศษกระดูกจึงยังไม่ได้ปิดกั้นพื้นที่ โดยให้อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลม่วงหวาน รวมถึงชิ้นส่วนฟอสซิลชิ้นใหญ่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาจากทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมให้กับทางพื้นที่ได้ดูและและให้ความรู้แก่ประชาชน
ขณะที่นายกรชวาลวิชญ์ ชัยพีรวัส นายอำเภอน้ำพอง ลงพื้นที่บริเวณลำน้ำพองหลง บ้านโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน รอยต่อบ้านบึงกลาง ต.หนองกุง เพื่อตรวจสอบบริเวณที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์ไม่ทราบสายพันธุ์ ซึ่งทางเทศบาลใช้เชือกกั้นป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าไปขุดคุ้ยทำลายสถานที่ ทั้งนี้ได้รายงานให้ผู้ว่าฯ ขอนแก่น ทราบถึงการพบฟอสซิลได้โนเสาร์แล้ว พร้อมประสานพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งยืนยันซากดึกดำบรรพ์ หรือซากฟอสซิลที่พบเป็นของแท้ อายุประมาณ 100 – 110 ล้านปี เบื้องต้นเทศบาลม่วงหวานนำฟอสซิลขนาดใหญ่ที่อยู่ในหิน ไปเก็บไว้ที่เทศบาลฯแล้ว เพื่อรอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ว่าฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ดังกล่าว ตายทับถมอยู่บริเวณนี้มาหลายร้อยล้านปี หรือถูกกระแสน้ำพัดมาจากที่อื่น
ขณะเดียวกันมีชาวบ้านจากบ้านบึงกลาง ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านโนนพะยอม เข้ามาทวงสิทธิในการเป็นเจ้าของฟอสซิลไดโนเสาร์ เพราะดังกล่าวเป็นพื้นของบ้านบึงกลาง ดังนั้นจะต้องเป็นของชาวบ้าน แต่ได้รับคำชี้แจงจากนายอำเภอ และนายกเทศบาลตำบลม่วงหวาน ว่า ฟอสซิลไดโนเสาร์ไม่ได้เป็นของผู้ใด เป็นของแผ่นดิน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ใครก็ไม่สามารถครอบครองได้ หากมีการทับถมกันอยู่ตรงนี้จริง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของชลประทาน จะต้องขออนุญาตขุดค้น และพัฒนาเป็นสถานที่ศึกษาทางธรณีวิทยา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านพอใจ และยอมสลายตัว. – สำนักข่าวไทย