เลย 16 มิ.ย.- อ.เชียงคาน จ.เลย นอกจากจะมีถนนคนเดินที่เป็นที่นิยมแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นของชุมชนได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ที่ยังคงรักษาประเพณีและถ่ายทอดวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ตั้งอยู่บริเวณบ้านนาป่าหนาด หมู่ที่ 4 นักท่องเที่ยวจะได้พบกับบ้านจำลองที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของชาวไทดำในอดีต โดยตัวบ้านจะสร้างแบบเรือนเครื่องผูก หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือแฝก ใต้ถุนสูง ซึ่งภายในบ้านจะแบ่งออกเป็นห้องๆ นอกจากนี้ บริเวณใต้ถุนบ้านที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ยังมีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำนั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณ หลังว่างเว้นจากการทำนา เพาะปลูก ให้ได้ชมกัน เป็นผ้าทอมือหรือที่ชาวไทดำเรียกว่า “ซิ่นนางหาญ” มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า 100 ปี อีกทั้งชาวบ้านยังแสดงดนตรีพื้นบ้านให้นักท่องเที่ยวได้ชมและร่วมสนุกไปด้วยกัน หากอยากสนับสนุนชุมชนสามารถซื้อของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ อาทิเช่น ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย กิจกรรมที่จัดแสดงตลอดทั้งปี ได้แก่ การสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำ และการเรียนรู้ตัวอักษร ภาษาไทดำ ชมการสาธิตการทอผ้า
ทั้งนี้ กลุ่มชาวไทดำ เคยตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทดำ บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2425 สมัยสงครามฮ่อ และหลังจากสงครามยุติลง ไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย กลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ “ไทดำ” หรือ “ลาวโซ่ง” ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ส่วนหนึ่งจะอาศัยอยู่ทางภาคกลาง ส่วนกลุ่มสุดท้ายก็อาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย ไทดำที่อพยพเข้ามายังบ้านนาป่าหนาดแห่งนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นไทดำชนชั้นราชวงศ์แทบทั้งสิ้นอีกด้วย หากนักท่องเที่ยวสนใจสอบถามได้ที่ สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ โทร 08-1048-2000 หรือ Facebook : หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด.-สำนักข่าวไทย