พังงา 20 ก.พ. – จังหวัดพังงา เป็นอีกพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะตามแนวชายฝั่งรุนแรงขึ้นทุกปี ถึงขั้นบางจุดที่เคยเป็นแผ่นดินมีเอกสารสิทธิ์กลายเป็นโฉนดทะเล ทำให้ผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ส่วนมากแก้ปัญหาด้วยการทำเขื่อนกันคลื่นแต่ยิ่งสร้างกลับยิ่งทำให้ชายฝั่งพังเสียหายมากขึ้น
ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทเอกชนรายหนึ่งในพื้นที่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีลักษณะคล้ายกับการปลูกสร้างบ่อกุ้งอยู่ในทะเลจนทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวเกิดความสงสัยและพากันตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าเหตุใดถึงสามารถก่อสร้างได้ แต่เมื่อทีมข่าวตรวจสอบกับสำนักงานเจ้าท่าพังงาพบว่า บ่อกุ้งดังกล่าวก่อสร้างในที่ดินที่เจ้าของถือครองกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการขออนุญาตตั้งแต่ปี 2555 แต่ผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นทำให้แผ่นดินบริเวณนี้ถูกกัดเซาะจนมีสภาพอย่างที่เห็น เช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ อีกหลายจุดของพังงา ที่ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ระบุว่ามีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะจนรุนแรงจนทำให้กลายเป็นที่ดินตกทะเลมากขึ้น ซึ่งหากผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ไม่มีการแจ้งกันสิทธิ์ภายในเวลา 1 ปี ทางกฎหมายจะถือว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ดินสาธารณะในทันที
การก่อสร้างกำแพง และกองหิน กันคลื่นที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างแข็งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายขึ้น เป็นระยะตลอดแนวชายหาดของพังงา โดยเฉพาะในย่านแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่มีโรงแรมและร้านอาหาร อาทิ หาดคึกคัก หาดเขาหลัก และกาดทับตะวัน สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกทำเขื่อนโครงสร้างแข็งแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะมากกว่าการเลือกใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบสีเขียวคือการปลูกต้นไม้ การปัก และการถมทรายอาจเป็นเพราะสามารถทำได้ง่ายกว่า ที่สำคัญปัจจุบันสามารถทำได้โดยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ
การก่อสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งทั้งในรูปแบบกำแพงและกองหินกันคลื่น จัดเป็นแนวทางสีเทา หรือแนวทางสุดท้ายในจำนวนทั้งหมด 3 แนวทางที่รัฐใช้แก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะเนื่องจากข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่า กำแพงกันคลื่นเลวร้ายที่สุดในบรรดาเครื่องมือป้องกันชายฝั่ง ทำให้ก่อนปี 2556 กำแพงและกองหินกันคลื่นอยู่ในรายการที่ต้องทำ EIA แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมากลับได้รับการยกเว้น .-สำนักข่าวไทย