ทำเนียบรัฐบาล 26 ก.ค.- นายกฯ เผย ครม.เห็นชอบ คนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 800 บาทต่อคน พร้อมเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 400 บาท ระยะเวลา 2 เดือน เริ่ม 1 ก.ย.- ต.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือ-ลดภาระค่าใช้ครองชีพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเติมเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้มีภาวะพึ่งพิงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นระยะเวลา 2 เดือน วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 400 บาท ช่วง ก.ย. – ต.ค. 2565 และเห็นชอบโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 โดยใช้สิทธิ 2 เดือน วงเงิน 800 บาทต่อคน สามารถใช้ได้ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มใช้สิทธิได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เศรษฐกิจจะได้ไม่ติดขัด-ขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับที่ผ่านมามีการใช้เงินกู้ ในปี 2564 ต่อเนื่องมา 2 ปีกว่า จนถึงปัจจุบันโดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย แรงงานประกันสังคม ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ กว่า 45 ล้านคน วงเงินประมาณ 854,000 ล้านบาท รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการจ้างงาน วงเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้สะดุด และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะการผลักดันบทบาทของประเทศไทยให้เป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญ แห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งครั้งนี้ ครม.เห็นชอบ
มาตรการทางภาษี เพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่
1. การลดอัตราภาษีประจำปี ลงร้อยละ 80 จากอัตราที่กำหนดตามขนาดของรถ เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ต.ค.65 ถึง 30 ก.ย.68 ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงดังกล่าวมากกว่า 128,000 กว่าคัน
2. การยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ได้แก่ รถยนต์นั่งทั่วไป – รถยนต์โดยสารสำหรับไม่เกิน 10 คน – รถกระบะแบบพลังงานไฟฟ้า ที่ประกอบ-ผลิตในประเทศ ตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้
มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.68 ซึ่งปัจจุบันรถยนต์แบบแบตเตอรี่ไฟฟ้านี้ยังไม่มีการผลิตภายในประเทศโดยทั้ง 2 มาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ในหลายมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ตนได้ประกาศเป้าหมายพลิกโฉมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ทั้งนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) และฝุ่น PM 2.5 ยังช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ครม.ได้พิจารณาและอนุมัติให้ดำเนินการไป เช่น การปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว สำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน15 ปี ที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริง ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ได้มีการปรับมามากกว่า 10 ปีแล้ว ปรับครั้งสุดท้ายในปีการศึกษา 2553 และเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษจ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ.2565 – 2570 จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในภาพรวม ในวันข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย โดยทั้ง 2 เรื่อง มีความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ. – สำนักข่าวไทย