กทม. 19 ก.ค.- นายกฯ ลงนามแต่งตั้ง 10 รมต. และปลัดกระทรวง พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการอีกชุด เร่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจ และน้ำมันแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ 10 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ร่วมเป็นกรรมการ ดังนี้
1. นายกรัฐมตรี ประธานกรรมการ
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) รองประธานกรรมการ (1)
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) รองประธานกรรมการ (2)
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) รองประธานกรรมการ (3)
5. รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) รองประธานกรรมการ (4)
6. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) รองประธานกรรมการ (5)
7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ
8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ
10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
นอกจากนี้ยังมีปลัดกระทรวงอีก 7 แห่ง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาพัฒน์ ร่วมเป็นกรรมการ
โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดและกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อน ในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อรวบรวมข้อมูล สนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการดังนี้
1. ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการ
2. รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมาย รองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1
3. รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมาย รองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2
4. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ อนุกรรมการ
5. ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุกรรมการ
6. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อนุกรรมการ
7. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน อนุกรรมการ
8. ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ อนุกรรมการ
9. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย อนุกรรมการ
10. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม อนุกรรมการ
โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม และตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และกลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ
พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่างๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย
พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน และประชาชนในทุกทางที่สามารถทำได้ สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่องราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้.-สำนักข่าวไทย