9 ก.ค. – นักวิชาการแนะทั่วประเทศควรทบทวนมาตรการดูแลความปลอดภัยนักการเมือง หลังนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถูกลอบสังหาร
กรณีการอสัญกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ วัย 67 ปี จากการถูกลอบสังหาร ขณะขึ้นปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรคแอลดีพีหรือพรรคเสรีประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) หลังสิ้นเสียงปืน นายอาเบะล้มลงกับพื้น ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมในเวลาต่อมา
เกิดคำถามถึงประเด็นการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเด็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังสิ้นอดีตนายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยว
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยว่าการเมืองญี่ปุ่นหากมองในด้านทั่วไปคงจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เนื่องจากนายอาเบะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็มาจากพรรคเดียวกัน ถ้าดูท่าทีของนายกฯ ปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ จะมีลักษณะที่เรียกว่า เป็นสายเหยี่ยว จะเห็นได้ว่ามีท่าทีที่เข้มข้นในการดำเนินการเกี่ยวข้องกับจีน การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดอเมริกา และใกล้ชิดกับนาโตมาก เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมแซงชั่นรัสเซีย และมีการดำเนินมาตรการที่เรียกว่า อินโด-แปซิฟิก ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย อเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และ 7 ประเทศในอาเซียน
ฉะนั้นหากมองในภาพนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศมีความใกล้เคียงกัน แต่ในส่วนรัฐบาลใหม่จะมีความเข้มข้นกว่า แต่สิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในประเทศจากการถึงแก่อสัญกรรมของนายอาเบะ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญมาก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมาก ปัญหาความรุนแรงทางการเมืองมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ยกเว้นความรุนแรงที่มาจากการคลั่งศาสนา เช่นการก่อเหตุในรถไฟ แต่ในแง่การสังหารนักการเมือง ในแง่ความรุนแรงทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกา ที่ได้ยินบ่อยๆ ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงเป็น “เรื่องสั่นสะเทือน” สังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ต่อจากนี้จะต้องมีการคำนึงถึงมาตรการการป้องปรามต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น
จากการติดตามข่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแรงจูงใจจากประเด็นการเมืองโดยตรง อย่างไรก็ตาม มาตรการปกป้องความมั่นคง ป้องกันภัยคุกคามในอนาคต คิดว่าจะต้องมีการดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต
นายสมชาย เปิดเผยอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลสำคัญของญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยและกฎหมาย เพื่อป้องกันเหตุลักษณะนี้เพียงพอหรือไม่ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้มีปืนไว้ป้องกันตัวได้ มีการถกเถียงว่าควรจะมีต่อไปหรือไม่ แต่ในอเมริกาปรับยาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ แต่ในประเทศอื่นคงจะมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายเกี่ยวกับการพกปืนมีความเข้มข้นพอหรือไม่ ส่วนนักการเมืองคงจะต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น ขนาดญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สงบยังเกิดเหตุลอบยิงในระยะใกล้แบบนี้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่น่าจะทำให้คนเกิดความหวาดกลัว เพราะเป็นเหตุการณ์ที่แยกออกมาจากเหตุการณ์ต่อเนื่อง หรือไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จึงคิดว่าคนทั่วประเทศจึงยังไม่มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัย และไม่ใช่สัญญาณเริ่มต้นของความรุนแรง ส่วนตัวมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความสงบ ใช้ความรุนแรงน้อยมาก.-สำนักข่าวไทย