กทม. 9 เม.ย.- มหาดไทยเน้นย้ำผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ดำเนินมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมสร้างการรับรู้ผู้จัดงานและประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565
วันนี้ (9 เม.ย. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 65 เป็นต้นไป จะเริ่มมีพี่น้องประชาชนทยอยเดินทางกลับยังภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 เพื่อพบปะญาติมิตร และหลายครอบครัวจะเดินทางท่องเที่ยว หรือร่วมกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้เน้นย้ำไปยังปลัดกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการสำหรับการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2565 และแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ประเมินและพิจารณาอนุญาตก่อนการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น การแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนท์ งานเทศกาล มหกรรม ประเพณี การละเล่นท้องถิ่น การแสดงทางวัฒนธรรมขบวนแห่เล่นน้ำ (ตามจำนวนการรวมกลุ่มคนที่จังหวัดกำหนด) และกำกับ ติดตามการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมาตรการ DMHTA ร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น/สาธารณสุขในพื้นที่ตลอดการจัดงาน อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ห้ามจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟม ประแป้ง ดื่ม หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเฝ้าระวังและควบคุม กำกับ การปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ในกิจการต่าง ๆ เช่น ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ร้านอาหาร ร้านอาหารกึ่งผับ ตลาด ศาสนสถาน สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
“ผู้จัดงานต้องประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ประเภทการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน หรือการจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น การแสดงคอนเสิร์ต การแสดงดนตรี งานอีเวนท์ งานเทศกาล มหกรรม ผ่านระบบ Thai Stop COVID 2 Plus และสำหรับกิจกรรมสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน ต้องแจ้งให้ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) หรือสำนักงานเขต ทราบ โดยผู้เข้าร่วมงานต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด และตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ทุกครั้งเมื่อร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หรือมีอาการ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเป็นผู้นำในการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สื่อสารสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชนผ่านทุกช่องทางสื่อสารในชุมชนและสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงพี่น้องประชาชนอย่างหลากหลายในวงกว้าง ในการป้องกันตนเองแบบ Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อโควิดขั้นสูงสุด (แบบครอบจักรวาล) และ DMHTA ได้แก่ 1) ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น 2) เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร 3) สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา 4) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 5) อย่าใช้มือสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก 6) ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน 7) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ 8) แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น 9) กินอาหารปรุงสุกใหม่ แยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และ 10) หากพบว่ามีอาการหรือสงสัยว่าตนเองเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK บ่อย ทันที เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการรับวัคซีนอย่างครบถ้วนก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอาการและอัตราการเสียชีวิตได้
“สำหรับการเตรียมตัวก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ของพี่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608 (ผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคมากหากติดเชื้อโควิด-19) คือ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา ควรรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม พร้อมทั้งต้องประเมินความเสี่ยงตนเองอย่างต่อเนื่อง หากมีความเสี่ยงสูง หรือมีอาการ ขอให้หลีกเลี่ยง หรืองดร่วมกิจกรรม และตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนร่วมกิจกรรม ภายใน 72 ชั่วโมง ในกรณีต้องเดินทาง โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือทุกสัมผัส งดการกินอาหาร และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนยานพาหนะ โดยภายหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ ควรสังเกตอาการตนเอง 7-10 วัน และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีอาการ หรือมีความเสี่ยงให้ตรวจด้วย ATK ทันที หากผลเป็นลบ ให้พิจารณาตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ โดยในช่วงสังเกตอาการ เลี่ยงการพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น หากต้องพบผู้อื่น ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับกรณีพบการระบาดเพิ่มขึ้นระหว่างหรือหลังเทศกาลสงกรานต์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการควรพิจารณามาตรการ Work From Home ตามความเหมาะสม ภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้กระจายในวงกว้าง โดยหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำผิดแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย