ทำเนียบรัฐบาล 30 มี.ค.-นายกฯ รับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทค วาระ 2 ปี เดินหน้าสร้างสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ อย่างรอบด้าน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยประเทศศรีลังกา ว่า ไทยรับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทค เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันนี้จนถึงปลายปี 2566 เป็นการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างเอเปคและบิมสเทค ซึ่งมี GDP รวมกันมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก
โดยบิมสเทค ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยโดยตรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางด้านธุรกิจ พลังงาน การเกษตร ประมง การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งวันนี้ได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน โดยเรียกร้องให้สมาชิกเพิ่มความร่วมมือเชื่อมโยงในทุกด้าน
ทั้งนี้ ได้ร่วมกันลงนามและรับรองเอกสารสำคัญ ดังนี้ กฎบัตรบิมสเทค, อนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา, บันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีบิมสเทค, บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถาบันการทูตระหว่างกระทรวงการต่างประเทศบิมสเทค และรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม และปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 (5th Summit Declaration)
ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับบิมสเทค เป็นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโต ด้วยประชากรที่มากกว่า 1 ใน 5 ของโลก การเจริญเติบโตจึงค่อนข้างสูง และการที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับภูมิภาคนี้ ถือเป็นการลงทุนทางการทูตที่มีคุณค่า ต่อยอดสู่การลงทุนและการเปิดตลาดท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย ที่มีกำลังซื้อสูงและขยายตัวมาก อีกทั้งบิมสเทค ยังมียุทธศาสตร์และความเชื่อมโยงทางทะเลสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยเชื่อมโยงผ่านระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และ EEC และยังเชื่อมต่อไปยังอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โอกาสนี้ไทยจะผลักดันวิสัยทัศน์ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ให้มีความมั่งคั่ง ยืดหยุ่น สามารถเผชิญวิกฤติและเปิดกว้างสู่การเติบโตที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการสาธารณสุข โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมและเจรจาการค้าและความร่วมมือกับหลายประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย บาร์เรน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม ซึ่งไทยเป็นสมาชิกหลากหลายกลุ่ม จึงต้องวางตัวให้ดี ระมัดระวังในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ ไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศและประชาชนไทย.-สำนักข่าวไทย