ศาลปกครอง 23 มี.ค. – ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมชาวโคราช 1,125 ราย ร้องขอสั่งเลิกโครงการ “สราญรมย์วินด์ฟาร์ม” ใบอนุญาตออกโดยชอบ-ไม่ละเมิด
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมพวกรวม 1,125 คน ซึ่งเป็นประชาชนชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาพักอาศัยและทำกินใกล้ชิดติดกับเสากังหันลม ในบริเวณพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด ต.หนองแวง อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และบริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด ขอให้เพิกถอนการอนุญาตประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม (โครงการสราญรมย์วินด์ฟาร์ม) เพื่อจำหน่าย และรื้อถอนเสากังหันลมออกจากพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายกับชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ศาลให้เหตุผลว่า โครงการสราญรมย์วินด์ฟาร์ม ไม่ใช่การดำเนินการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือชุมชน ที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่โครงการมีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งก็พบว่า บริษัท กรีโนเวชั่นฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว
ส่วนตำแหน่งที่ตั้งของกังหันลมในโครงการ ระยะห่างจากโคนเสาถึงเขตที่ดินของบ้านหรือที่อยู่อาศัยฯ ที่ชาวบ้านอ้างว่ากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เพราะกังหันลมส่งเสียงดังทั้งกลางวันและกลางคืน กระทบต่อสุขภาพ การพักผ่อน และยังมีผลทำให้ที่ดินบริเวณใกล้เคียงแห้งเร็วขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผลการเกษตร กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นกแมลง อากาศแปรปรวน ทำให้ผิดไปจากธรรมชาติ ศาลเห็นว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มีมติผ่อนปรนการดำเนินการตามข้อ 5 (3) (ก) ของประกาศคณะกรรมการกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดระยะห่างที่ตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยมีเหตุผลอันสมควรและได้คำนึงถึงผลกระทบความปลอดภัยของประชาชนพอสมควรแก่กรณี ซึ่งบริษัท กรีโนเวชั่นฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างเสากังหันลมไปตามที่ได้รับการผ่อนปรนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานโดยชอบแล้ว และจากรายงานผลการตรวจวัดระดับเสียงจากกิจกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม บริเวณชุมชนใน ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 10-11 มิถุนายน 2563 ซึ่งศาล พยานผู้เชี่ยวชาญ คู่กรณีและตัวแทนของคู่กรณีทุกฝ่าย ร่วมกันตรวจสอบสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่พิพาท และตรวจวัดระดับเสียงของกังหันลมในโครงการ จำนวน 3 จุด พบว่ายังไม่เกินไปกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงยังไม่อาจถือว่ามีการกระทำละเมิดต่อชาวบ้านทั้ง 1,125 รายที่เป็นผู้ฟ้องคดี. – สำนักข่าวไทย