รัฐสภา 1 มี.ค.-กมธ.ดีอีเอส ถกหลายหน่วยงานหาทางแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หารือ กสทช.ใส่ดอกจันเบอร์โทรเข้าอันตราย – แอปพลิเคชันตรวจสอบ แนะ ก.คลัง หนุนงบฯ พัฒนาซอฟแวร์ เดือน มี.ค.ประชุมอีกรอบ
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากมธ.ดีอีเอสพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาและวิธีการช่วยเหลือประชาชนจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ของกลุ่มมิจฉาชีพในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้โทรศัพท์หรือแอปพลิเคชันไลน์หลอกลวงประชาชน โดยเชิญผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือร่วมหารือแนวทางและการช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้กมธ. เป็นห่วงมาก เพราะมีประชาชนเดือนร้อนจะแก๊งนี้เป็นจำนวนมาก โดยแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ซึ่งต้องขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง
นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า กมธ.ดีอีเอสตระหนักเรื่องนี้มาก และได้ตั้งอนุกมธ.เพื่อติดตาม โดยมีตนเป็นประธานและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือก่อนหน้านี้ไปแล้ว ส่วนการประชุมกมธ.สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกมธ.ได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เร่งรัดอย่างเป็นระบบ โดยขอความร่วมมือกับทางกสทช. ให้เร่งคุยกับทางผู้ให้บริการเครือข่าย หากมีหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศ ให้มีเครื่องหมายดอกจันนำหน้าหมายเลข เพื่อให้ประชาชนรู้ โดยทางผู้ให้บริการกำลังเร่งจัดทำให้เร็วที่สุด นอกจากนี้เรายังขอให้กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยเช็คหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งน่าจะช่วยประชาชนได้มากขึ้น
“วันนี้ภัยไซเบอร์ใกล้ตัวมากขึ้น กระทรวงการคลัง อาจจะต้องสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนเรื่องการพัฒนาซอฟแวร์ต่าง ๆ เพื่อการป้องกันให้กับประชาชน เพราะขณะนี้ผมทราบว่ามีชาวต่างชาติเช่าสำนักงานทำงานอย่างเป็นทางการแถวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำและประเทศกัมพูชา และผมก็เคยหารือกั รมว.ดีอีไปบ้างแล้ว ซึ่งการประชุมกมธ.ดีอีเอส ในครั้งนี้ เราได้ให้การบ้านกับทุกหน่วยงานไปช่วยกันคิดหาวิธีการ โดยภายในเดือนมี.ค.เราจะเชิญมาพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป” นายสยาม กล่าว.-สำนักข่าวไทย