รัฐสภา 25 ก.พ.-ฝ่ายค้าน แจงไม่ขึ้น “ส.ส.-ส.ว.” โหวตตก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 3 ฉบับรวด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่มี ผู้เสนอให้พิจารณารวม 6 ฉบับ ได้เสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาแล้ว และได้เข้าสู่การสรุปเนื้อหาของผู้ที่เสนอร่างกฎหมาย ก่อนลงมติ
โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายว่าปิดว่า มาตรา 28 มาตรา29 ที่ขอยกเลิกนั้น ตนมองว่าเป็นบทบัญญัติที่ครอบงำความเป็นอิสระของพรรคการเมือง และใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แม้มีมาตราดังกล่าว แต่ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการเขียนกฎหมายดังกล่าวคือการใช้อำนาจนิยม ไม่ใช่การคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นมาตรการป้องกันการครอบงำ และชี้นำ ในร่าง พ.ร.ป. มีหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรการการเงิน ส.ส.พรรคประชาชาติ วินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เหมือนที่ ส.ว. อภิปราย
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายปิดว่าร่าง พ.ร.ป.ของพรรคเพื่อไทย ที่ ส.ว. บอกว่ารับไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น หากรับไปแล้วสามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเขียนหลักการไว้อย่างกว้าง ทั้งนี้ขอให้รับเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง
ส่วนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปิดโดยย้ำถึงเนื้อหาที่เสนอแก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากรับร่างแบบเฉพาะเจาะจง สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากประกาศใช้ ได้เขียนบทเฉพาะกาลว่าผู้รักษาการตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นกกต.ต้องรับไปดำเนินการ ตามความเห็นของสมาชิกรัฐสภา และหากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปัญหาการเมืองในปัจจุบันจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นตราบาปของ กกต. แน่นนอน
“การขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาในประเทศต่างๆ เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยไม่เคยสำเร็จจากผู้มีอำนาจ แต่สิ่งที่ทำสำเร็จได้คือประชาชน ฐานะนักการเมืองต้องทำกติกาที่สุจริต เที่ยงธรรม เพื่อนำไปใช้ด้วยความชอบธรรม” นายชินวรณ์ อภิปราย
ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขณะนี้ถึงเวลาครบ 5 ปี ที่สมควรทบทวนกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ดังนั้นการอภิปรายทักท้วงเหมือนกับการปกป้อง พ.ร.ป. อย่างไรก็ดีตนมองว่าพรรคการเมืองคือสถาบันทางการเมือง ดังนั้นต้องพัฒนาให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ให้เกิดการยุบพรรคได้ง่าย โดยตั้งแต่ปี 2540 พบว่ามีพรรคที่ถูกยุบแล้วกว่า 100 พรรค ซึ่งการเลิกมาตราว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค คือการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน
จากนั้น เมื่อเวลา 19.28 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้เข้าสู่การลงมติในวาระแรก ว่าจะรับหลักการ หรือไม่รับหลักการ ขอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งมีผู้เสนอรวม 6 ฉบับ โดยใช้การลงมติทีละฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติพบว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการ 598 เสียง ต่อ 11 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง ฉบับของนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รับหลักการ 578 เสียง ไม่รับหลักการ 19 เสียง และงดออกเสียง 26 เสียง และ นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เสนอ รับหลักการ 408 เสียง ไม่รับหลักการ 184 เสียง และงดออกเสียง 28 เสียง
ขณะที่อีก 3 ฉบับ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มติที่ประชุมเสียงข้างมากไม่รับหลักการ ได้แก่ ฉบับ ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ รับหลักการ 207 เสียง ตทอ 375 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง ฉบับ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับหลักการ 221 เสียง ไม่รับหลักการ 371 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง และ ฉบับของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับหลักการ 205 เสียง ไม่รับหลักการ 380 เสียง งดออกเสียง 34 เสียง
ทั้งนี้เสียงของการลงมติไม่รับหลักการนั้น คาดว่าจะมาจากเสียง ฝั่ง ส.ว. และ ส.ส. ฝั่งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการตั้ง กมธ.นั้น มติที่ประชุมได้ใช้กมธ.ชุดเดียวกับ การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ได้เปลี่ยนแปลงรายชื่อ 1 คน จากสัดส่วนของ ครม. จากนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็น นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่
อย่างไรก็ดีในการพิจารณาว่าจะใช้ร่างฉบับใดเป็นหลัก พบว่า ส.ส.พรรครัฐบาล เสนอให้ใช้ฉบับของนายวิเชียรเป็นหลัก แต่นายกล้าณรงค์ จันทิก ส.ว.เสนอให้ใช้ฉบับของครม. เป็นหลัก ทำให้ต้องใช้มติตัดสิน โดยเสียงข้างมากให้ใช้ฉบับของนายวิเชียรเป็นหลักในวาระที่สอง จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้อ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม.-สำนักข่าวไทย