ทำเนียบ 3 ก.พ.- ศบค.ระบุเดือน ก.พ. ระดมฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปี เด็กมีโรคประจำตัว จะให้ฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเท่านั้น ย้ำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เผย WHO ห่วงหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการมากเกินไป
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานผู้ติดเชื้อระรอกที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย มาจากผู้ติดเชื้อในประเทศ 8,889 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 8,855 ราย จากการคัดกรองเชื้อโรคในชุมชน 34 ราย ในเรือนจำ 61 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 222 ราย สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสม 242,288 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,832 ราย รวมหายป่วยสะสม 190,588 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 84,413 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 517 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 107 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 21 คน รวมเสียชีวิตสะสม 530 คน ส่วนผู้เสียชีวิต 21 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 10 คน โดยอายุระหว่าง 38 ถึง 92 ปี เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 71 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 24 และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส จึงขอย้ำให้ประชาชน เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3
ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ รวม 115,820,533 โดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 75.3 เข็มที่ 2 ร้อยละ 70.1 เข็มที่ 3 ร้อยละ 21.1 ส่วนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,320,076 โดส ถือเป็นร้อยละ 45.39 ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มฉีดเด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน เป็นการฉีดในโรงพยาบาล ส่วนเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัวจะกำหนดให้ฉีดในโรงเรียน เบื้องต้นจะจัดสรรให้กับนักเรียนชั้น ป.6 ก่อน ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีเป็นอันดับแรก
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก 385 ล้านราย เสียชีวิตสะสมทั่วโลก 5.7 ล้านคน สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 76.8 ล้านราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 3 แสนราย ตามด้วย อินเดีย 41.79 ล้านราย บราซิล 25.8 ราย ฝรั่งเศส 19.8 ล้านราย สหราชอาณาจักร 17.5 ล้านราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีความเป็นห่วง เพราะปัจจุบันหลายประเทศเริ่มกำหนดนโยบายผ่อนคลายมากจนเกินไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอีกต่อไป ซึ่ง WHO เป็นห่วง จึงได้ออกมาย้ำเตือนว่าการแพร่ระบาดที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหมายถึงยอดผู้เสียชีวิตต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ตั้งแต่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 90 ล้านราย องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนติดเชื้อทั้งปีของปี 2563 จึงไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการมากเกินไป เช่น เดนมาร์ก และฝรั่งเศส ซึ่งการยกเลิกมาตรการสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่าคำนึงว่าปลอดภัยแล้ว แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศเหล่านี้ตัดสินใจเปิดกิจการกิจกรรม ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น และยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยที่เปิดให้ลงทะเบียน Test and Go ให้เข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้นยังมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการ เช่นการตรวจสอบโรงแรมที่นักท่องเที่ยวจอง ว่าได้มาตรฐาน SHA+ หรือไม่ และมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติที่ต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจ ATK ซ้ำ รวมถึงวงเงินประกันสุขภาพ ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ไปอีกประมาณ 7วันถึงจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้.-สำนักข่าวไทย