กรุงเทพฯ 24 ม.ค.-“วิโรจน์” ว่าที่ผู้สมัครฯผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ตรวจสอบทางม้าลาย หลังเกิดอุบัติเหตุเศร้า สูญเสียบุคลากรทางการเเพทย์ ยืนยันเป็นหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูเเลความปลอดภัย มีเทคโนโลยีพร้อม สร้างค่านิยมใหม่เรื่องการใช้ถนน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครฯผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล พร้อมนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ตรวจสอบทางม้าลาย ที่หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร หลังเกิดอุบัติเหตุเศร้า จากกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนขี่จักรยานยนต์ยี่ห้อดูคาติด้วยความเร็ว เป็นเหตุให้ชนกับร่างของบุคลากรทางเเพทย์ที่กำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนได้รับบาดเจ็บสาหัสเเละเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้ตนลงมาดูโครงสร้างปัญหา มาดูว่าทางวิศวกรรมจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง คนกรุงเทพเราใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยง ต้องดูแลความปลอดภัยของตัวเองตลอดเวลา แต่เวลาเกิดเหตุมักมีคำว่าเหตุใดไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง จึงเป็นคำถามว่าตกลงกรุงเทพมหานครจะผลักภาระให้ประชาชนอย่างเดียวหรือ และหน้าที่ที่สร้างความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ควรเป็นหน้าที่ของรัฐ เเละผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะพ่อเมืองใช่หรือไม่
นายวิโรจน์ กล่าวว่า หลังจากทดลองเดินข้ามทางม้าลายที่เกิดเหตุ เป็นที่สังเกตว่า วันนี้พฤติกรรมของประชาชนทุกอย่างยังเหมือนเดิม การเดินข้ามถนนต้องรีบวิ่งหลบรถกันอยู่ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก คันที่อยู่เลนขวาบางทีเร่งเครื่องขึ้นมา ทั้งที่เป็นจุดบอดบนท้องถนน ถ้าหากเห็นรถข้างๆจอด ควรต้องเอะใจ
“เราต้องชะลอไว้ก่อนไม่ใช่เหยียบคันเร่งใส่เลย แต่จะโทษนิสัยคนขับรถอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีกลไกหรือระบบเตือนใจ ตรงนี้สำคัญ กทม.จะต้องมีเส้นชะลอความเร็ว ต้องมีไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณต้องมี กล้องวงจรปิดต้องมี กล้องตรวจจับความเร็วต้องมี อุปกรณ์เหล่านี้ต้องมี นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การดูแลเมืองต้องใส่หัวใจไปด้วย สังคมต้องร่วมกันต่อสู้และยอมรับว่า ทางข้ามต้องปลอดภัย คนข้ามต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะมีอาชีพใด เพศไหน แค่ไม่กี่ตารางเมตรตรงนี้ต้องปลอดภัยได้” นายวิโรจน์ ระบุ
นายวิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น กรุงเทพมหานครต้องเป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้งความดำเนินคดีให้มีการเปรียบเทียบปรับเกิดขึ้นได้ทันทีเพื่อปกป้องชีวิตทุกคน แม้เราไม่มีหน้าที่ปรับโดยตรง แต่เรารวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความได้โดยไม่ต้องรอเจ้าทุกข์ เมื่อจับและตัดแต้มเรื่อย ๆ เราจะสามารถสร้างค่านิยมใหม่ในการใช้รถใช้ถนนได้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานลอยเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะประชาชนต้องการเดินข้ามถนนด้วยทางข้าม กรุงเทพมหานครไม่ควรสร้างภาระให้ประชาชน เเต่ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ถนนบนทางเท้า หากวันนึงคนที่ประสบอุบัติ เป็นพี่น้องเรา เป็นครอบครัวเรา เราต้องรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ด้านนายสุรเชษฐ์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่าในทางวิศวกรรมมี 3 แนวทางคือ จะต้องมีการควบคุมความเร็ว ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือมีป้ายเตือน เพราะบนถนนมีจุดบอด (blind spot) ประเด็นต่อมา จะต้องมีการกวดขันวินัยจราจร โดยเสนอเป็นกฎหมายเชิงตัดแต้มที่ไม่ใช่การจ่ายค่าปรับอย่างในปัจจุบันซึ่งไม่กระทบกับคนรวย ประเด็นสุดท้าย แก้ไขแต่ละจุด หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาหากลไกดูตามแต่ความเหมาะสมในพื้นที่.สำนักข่าวไทย