ศาลรัฐธรรมนูญ 10 พ.ย.-ศาลรธน.ชี้ “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สั่งแกนนำและเครือข่ายเลิกทำ
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น) น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ (อั๋ว) น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 ราย ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศัย ของนายอานนท์ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และ น.ส.ปนัสยา ผู้ถูกร้องที่ 3 ไว้พิจารณา และให้ทั้ง 3 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลไต่สวนโดยมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ การกระทำทั้ง 3 คน ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงตามคำร้อง พยานหลักฐาน และบันทึกเสียงการปราศรัยของทั้ง 3 คน ในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ทั้ง 3 คน อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมาหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ
“พิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คำวินิจฉัยระบุ
การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตี ในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย ทั้ง 3 คนมีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏว่าทั้ง 3 คน ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคล กลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบ การกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นขบวนการ มีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ทั้ง 3 คน รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่ การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง.-สำนักข่าวไทย