ทำเนียบ 5 พ.ย.- ศบค.เตรียมแผนเชิญเหตุ หากพบโควิดระบาดช่วงเปิดประเทศ วาง 3 หลักเกณฑ์ลดกิจกรรม – งดรับนักท่องเที่ยว
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค และ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค.) กล่าวถึง การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของนักท่องเที่ยว มาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานสมุย ตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ย. 2564 ยอดสะสม 13,129 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย
ส่วน 10 อันดับประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ย.64 พบว่า อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา จำนวน 1,593 คน อันดับ 2 เยอรมนี จำนวน 1,592 คน อันดับ 3 สหราชอาณาจักร จำนวน 1,006 คนอันดับ 4 ญี่ปุ่น จำนวน 935 คน อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 624 คน อันดับ 6 สวีเดน จำนวน 511 คน อันดับ 7 เกาหลีใต้ 499 คน อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ จำนวน 363 คน อันดับ 9 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 350 คน และอันดับ 10 จีน 345 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศปก.ศบค.)ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่และสายการบินต่างๆตรวจเอกสารหลักฐานของนักท่องเที่ยวและผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างละเอียดให้ครบถ้วนตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้ามาถึงประเทศและเมื่อเดินทางถึงประเทศแล้ว ขอให้ขั้นตอนที่สำคัญ คือ การตรวจคัดกรองเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวจะต้องมีระบบในการดำเนินการที่จับคู่กับโรงพยาบาลที่ปฎิบัติการคู่สัญญา เพื่อตรวจและออกผลให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้าสู่ระบบต่อไป ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้กระทรวงการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (กกท.)มีการกำกับติดตามสถานประกอบการโรงแรมให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขและที่ประชุมศปก.ศบค.มีความเป็นห่วงเรื่องการดำเนินงานในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในช่วงที่มีการผ่อนคลาย โดยมีการประชุมกับหลายภาคส่วน ทั้งกรุงเทพฯ ภาคเอกชนเช่นสมาคมภัตตาคารไทย และสมาคมผู้ค้าปลีก เป็นต้นโดยมีประเด็นหลักในการประชุม 2 เรื่อง คือ 1.ขอเร่งรัดให้ร้านค้าสถานประกอบการร้านอาหารทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือให้ดำเนินการภายใต้มาตรการสาธารณสุข และฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน เพื่อยกระดับสถานประกอบการโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับมาตรการผ่อนคลายอื่นๆที่จะตามมา และ2.การอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหาร ขอให้เจ้าของกิจการและสถานประกอบการทั้งหมดช่วยดำเนินการภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ประชุมศปก.ศบค.จะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข มีแผนรองรับอย่างไรบ้าง หากมีการระบาดเกิดขึ้น พญ.สุมณี กล่าวว่า มีการเตรียมพื้นที่สำหรับแผนเผชิญเหตุเมื่อมีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งในการทำแผนเผชิญเหตุดังกล่าวมีการจัดทำภายใต้หลักการตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ข้อ คือ 1.ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นนักท่องเที่ยว 2. ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เป็นประชาชนในพื้นที่ และ 3.ลักษณะการระบาดวิทยาของ โควิด-19 ในพื้นที่และการจัดระดับพื้นที่สถานการณ์ และทรัพยากรในการสอบสวนควบคุมโรค เมื่อมีการพิจารณาแล้วจะต้องมีการปรับว่าจะต้องมีการทำมาตรการอย่างไรเริ่มตั้งแต่ลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว จนถึงยุติการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องเป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดนั้นๆในการดำเนินการซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย