กสม. 4 พ.ย.-กสม.ย้ำข้อเสนอเปิดพื้นที่ปลอดภัยแสดงความคิดเห็น ปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนชุมนุมเหมาะสม เน้นการชุมนุมปราศจากอาวุธ เชื่อทุกฝ่ายพัฒนาการดีขึ้น ความรุนแรงไม่น่าห่วง
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงถึงการติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลัง กสม.มีข้อเสนอแนะเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ว่า ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมที่ดินแดง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก การป้องกันคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์ชุมนุม
“กสม.มีหนังสือ 3 หน่วยงานดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. นายสุชาติ เศรษฐมาลินี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และผมได้ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะกับผู้แทน 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด โดย กสม.ได้เน้นย้ำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม เช่น ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน และเปิดพื้นที่การใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยปราศจากความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ” นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุม หลังการชุมนุม และควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจน ระหว่างผู้ก่อความรุนแรง และไม่ก่อความรุนแรง นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชนด้วย รวมทั้งให้ดูแล คุ้มครอง ปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง และสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง
“หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. โดยให้ความสำคัญกับกลไกการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ และยังหารือถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักสิทธิเด็กในกระบวนการจับกุมและดำเนินคดีต่อเยาวชนด้วย ทุกหน่วยงานพร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามแนวทางข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่ง กสม.ยินดีร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็น และเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้แนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด” นายวสันต์ กล่าว
เมื่อถามถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากโควิด-19 มีการเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การชุมนุมอาจจะมีมากขึ้น แต่เรื่องความรุนแรง หวังว่าการใช้ความรุนแรงหรือการปะทะกันจะลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งเจ้าหน้าที่ โดยทางฝั่งเจ้าหน้าที่ เราได้พูดคุยกันอยู่ตลอดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขอให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะที่ผู้ชุมนุม เราคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองจะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล
“การชุมนุมใหญ่ครั้งหลังสุด เจ้าหน้าที่ตั้งด่านกลั่นกรองอาวุธในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมติดริบบิ้นให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อแยกเด็กกับผู้ชุมนุมโดยทั่วไปชัดเจนขึ้น ซึ่งเห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ดี ส่วนเรื่องความรุนแรงในระยะหลังอาจจะเบาบางลง หากมีเวทีพูดคุยกัน มีกติกาการชุมนุมที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเราคิดว่าสถานการณ์เรื่องความรุนแรงไม่น่าเป็นห่วง” นายวสันต์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย