ทำเนียบรัฐบาล 3 พ.ย.-“วิษณุ” เผยนายกฯ ตั้งประธานวิปรัฐบาลตามใจชอบไม่ได้ พรรคร่วมต้องเสนอชื่อมา แต่ถ้ามาจากพรรคแกนนำก็ดี แนะใช้คนที่เป็น ส.ส. เคยใช้คนนอกแล้วมีปัญหาการประสานงาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาล ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในสภาฯ เพราะเปลี่ยนได้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ซึ่งตามขั้นตอน ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐจะเป็นผู้เสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง
“นายกรัฐมนตรีจะตั้งตามใจชอบไม่ได้ เพราะหากตั้งไปแล้วไม่สามารถประสานใครได้จะเกิดปัญหา ซึ่งในอดีตเคยลองเอาคนนอกมาเป็นประธานวิปรัฐบาล เพราะถือว่าประธานและวิปฯ เป็นกรรมการของรัฐบาล เมื่อก่อนก็ใช้คนของรัฐบาลส่งเข้าไป ก็ได้ประโยชน์ของรัฐบาล แต่ไม่ได้ประโยชน์ต่อการทำงาน จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถอยู่ร่วมการประสานงานในสภาฯ ได้ ตอนหลังจึงเปลี่ยนให้เลือกจาก ส.ส.ในสภาฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ แต่หากเป็นคนจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะดีกว่า เเต่เชื่อว่าการยังไม่ตั้งเวลานี้ ไม่กระทบการทำงาน เพราะยังมีรองประธานวิปฯ ทำงานอยู่” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ชี้แจงถึงเรื่องการให้มาประชุมวิปรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการ สมัยก่อนวิปฯ เป็นคณะกรรมการของรัฐบาล จึงต้องประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะต้องมีข้าราชการเข้าชี้แจงเสนอกฎหมาย คล้ายกับประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นพอมีรัฐสภาใหม่ จึงไปประชุมที่รัฐสภา ซึ่งสะดวกกว่า
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนประธานวิปรัฐบาลกลางคัน จะมีผลกระทบต่อเสียงในสภาฯ ในการโหวตกฎหมายสำคัญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว
ส่วนจะมีช่องทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ ที่ให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่เมื่อมันจบไปแล้วก็แปลว่าศาลคิดแล้ว ถึงไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น แต่ใครจะดิ้นรนต่อไปก็ทำได้ อีกทั้งนายวิรัช ยังสามารถเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนคนนอกได้
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งในนามพรรคได้ ว่า สมัยก่อนทำได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะบางคนไม่ได้สังกัดพรรค แต่จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากเห็นชอบร่วมกันก็แก้ไขได้ แต่คิดว่าสำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รอบนี้คงไม่ทัน
“ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ว่ามีเลือกตั้งเมื่อไร เพราะถ้าแก้กฎหมายนี้ต้องเสนอกันทีละสภา ซึ่งไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สามารถเสนอ 2 สภาร่วมกันพิจารณาได้ แต่ขณะนี้มีร่างกฎหมายนี้อยู่ในสภาฯ ถ้าจะทำก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณา” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย