ทำเนียบฯ 8 ก.ย.-“วิษณุ” ชี้แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอย่างตรงจุด แย้มยุบ ศบค.แล้ว อาจมีศูนย์อื่นที่ใหญ่กว่า มาดูแลได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. จะต้องยุติลง หากยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ศบค. เป็นการตั้งกันเองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะนี้รัฐบาลพยายามจะขอแก้กฎหมายเพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ ซึ่งต้องแยกออกมา เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 นั้น แรกเริ่มใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินกับการก่อความไม่สงบ และสามารถใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเกิดโรคระบาดได้ ซึ่งวันนี้อนุโลมไปใช้กับโรคระบาด และเมื่อใช้มาระยะหนึ่ง ก็รู้ว่าการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายโรคติดต่อ เพื่อให้เวลามีโรคระบาดเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จะต้องมีมาตรการที่แตกต่างจากโรคอื่นๆ เพราะวันนี้ใช้มาตรการเดียวกับการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ ดังนั้น เมื่อหยุดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศบค. ก็ต้องเลิกไป ซึ่งขออย่าไปคิดเป็นเรื่องใหญ่ในการยุบ ศบค. เพราะไม่ใช่ว่ายุบแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีและใหญ่กว่า ศบค. ด้วย
“เมื่อมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ประกาศใช้ได้ แต่ถ้าประกาศตรงนั้นได้ ก็ไม่ต้องเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ การตั้ง ศบค.ก็ไม่มีความจำเป็น แต่ก็อาจจะเกิดศูนย์อะไรใหม่ขึ้นมาตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ สรุปคือ ศบค. เกิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเราหยุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ศบค. ก็ต้องเลิก แต่อาจจะเกิด ศ. อื่นขึ้นได้ ที่ใหญ่เท่ากัน หรือใหญ่กว่าก็ได้ ไม่แปลก เท่านั้นเอง” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และถ้าเสนอเข้าสภาฯ ด้วยการเป็นกฎหมายปฎิรูป ก็จะดำเนินการได้เร็ว.สำนักข่าวไทย