27 ส.ค. – พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บจธ. มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าเกษตรกรและผู้ยากจนจะสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินสูงขึ้น จึงสั่งการให้ บจธ. ดำเนินการติดตามก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เปิดเผยว่า กระบวนการเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชนให้พึ่งพาตัวเองได้ และแบ่งปันผู้เดือดร้อน โดยจะเห็นได้ว่าวิสาหกิจชุมชน 11 พื้นที่ และสหกรณ์การเกษตร 1 พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ) มีความเข้มแข็ง มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร มีผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภค ที่ชุมชนสามารถจำหน่ายได้เอง และส่งออกขายได้ทั่วประเทศ สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว มีเงินเก็บออมจ่ายค่าเช่าที่ดิน และค่าเช่าซื้อที่ดินกับ บจธ. ได้ โดยแต่ละวิสาหกิจชุมชนในแต่ละภาคมีความเข้มแข็งและสามารถสร้างจุดเด่นให้กับกลุ่มได้ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชาวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย “ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง Landmark สำคัญของจังหวัดเชียงราย” สมาชิก 60 ครัวเรือน พื้นที่ 84 ไร่เศษ ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง เป็นหมู่บ้านศีล 5 เป็นชุมชนที่มี “บุญ” นำทางการดำเนินชีวิต เป็นศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีร้านค้าให้สมาชิกได้นำผลผลิตผักผลไม้อินทรีย์มาวางขายและส่งออกให้กับหน่วยงานและชุมชนอื่นที่เข้ามารับซื้อ ได้รับการยกย่องจากนายกรัฐมนตรีและจังหวัดเชียงรายให้เป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการป่าและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิสาหกิจชุมชนไร่นาส่วนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา “แหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านเกษตรกผสมผสาน การแปรรูป และวิชาการเกษตร จ.นครราชสีมา” มีสมาชิก 45 ครัวเรือน เนื้อที่ 150 ไร่เศษ ปัจจุบัน สมาชิกมีความเข้มแข็ง มีการจัดตั้งกลุ่มทำปุ๋ยโบคาชิ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มปลูกผักผสมผสาน กลุ่มปลูกผักสลัดเพื่อจำหน่าย และแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อหมุนเวียนสร้างผลผลิต และจำหน่ายแจกจ่ายในพื้นที่ พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน วิชาการเกษตรต่างๆ ให้กับบุคคลทั้งในและนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สมาชิกส่วนใหญ่มีรายได้จากการปลูกผักสวนครัว

ในพื้นที่ภาคตะวันตก วิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า ต.ท่ายาง จ.เพชรบุรี “ชุมชนต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้ เกษตรเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์ จ.เพชรบุรี” มีสมาชิกจำนวน 26 ครัวเรือน เนื้อที่ 93 ไร่เศษ ปัจจุบันพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์ ให้แก่หน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ เป็นที่ชื่นชมของจังหวัดเพชรบุรีว่าเป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการพื้นที่และเกษตรส่งออกปลอดภัยให้แก่พื้นที่ได้ เชื่อมโยงองค์กรเอกชนเครือข่ายผักอินทรีย์ทั่วประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยล่าสุดชุมชนได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่ม ศพก. เครือข่าย (ด้านปศุสัตว์) ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ปีงบประมาณ 2564
ในพื้นที่ภาคใต้ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หมู่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี “ชุมชนต้นแบบพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร จ.สุราษฎร์ธานีปัจจุบันมีสมาชิกอยู่จำนวน 37 ครอบครัวปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ปาล์ม ยางพาราและพืชอาหารเพื่อเลี้ยงชีพและจำหน่าย มีความโดดเด่นชัดเจนในเรื่องของการเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน และแจกจ่ายแบ่งปันไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้ เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบของโมเดลตัวอย่างการทำงานร่วมกันของรัฐ และเอกชน
ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ยากจนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องที่ดินทำกินได้ที่ โทร 02-278-1648 ต่อ 115, 02-278-1244 ต่อ 610 หรือ 063-214-7844 อีเมล saraban@labai.or.th” . – สำนักข่าวไทย