ทำเนียบรัฐบาล 28 มิ.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมกนช. เร่งแก้ปัญหาน้ำ สั่งขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ย้ำใช้ระบบ “Thai Water PlanW เพิ่มประสิทธิภาพ เร่ง 10 มาตรการรับมือฝน เก็บน้ำให้มากที่สุดรับฝนทิ้งช่วง มีน้พเพียงพอ ยั่งยืน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ VDO Conference โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบัน (22 มิ.ย.64) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำ 32,344 ล้านลบ.ม.(45%) ขนาดกลางมีปริมาณน้ำ 2,732 ล้าน ลบ.ม.(50%) และขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำ 1,868 ล้าน ลบ.ม.(37%)
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ได้ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอยู่ในขณะนี้ โดยบูรณาการหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และมีความคืบหน้าในภาพรวมน่าพอใจ มุ่งเน้นการป้องกันน้ำหลาก น้ำท่วม และการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรม รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่สำคัญ ได้แก่ แนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง ต่อวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด
ที่ประชุมกนช.พิจารณาเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ คือการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านระบบ “Thai Water Plan” ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเห็นชอบให้ทบทวนบทบาทของหน่วยงาน บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีเอกภาพการทำงานมากขึ้น
พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้สทนช.และกระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ แม่น้ำโขงต่อวิถีชีวิตของประชาชน ในลุ่มแม่น้ำโขง และให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโขง อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดดำเนินการต่อไป
พล.อ.ประวิตร ยังกำชับสทนช.ให้กำกับ ติดตาม และเร่งรัดแผนงาน โครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำและพ.ร.บ.น้ำให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนด โดยมุ่งให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอ ยั่งยืน และลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ภัยแล้งและน้ำเค็มรุกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป.-สำนักข่าวไทย