กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.- อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการจัดตั้ง ICU สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักสีแดง ผู้ป่วยปานกลางสีเหลืองเข้ม และเหลืองอ่อน รวม 186 เตียง ให้เสร็จภายใน 7 วัน เตรียมเปิด 2 ก.ค.นี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการจัดตั้ง ICU สนาม ที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กทม. กองทัพบก และเครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เร่งปรับโรงพยาบาลสนามมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักสีแดง ผู้ป่วยปานกลางสีเหลืองเข้มและเหลืองอ่อน รวม 186 เตียง ให้เสร็จภายใน 7 วัน เตรียมเปิดใช้งาน 2 กรกฎาคมนี้ ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพลตรี ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด ในเครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการจัดตั้ง ICU สนาม โรงพยาบาลสนามมณฑลทหารบกที่ 11
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ได้มาตรวจเยี่ยมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูง รองรับผู้ป่วยอาการหนักและปานกลางค่อนหนัก เนื่องจากขณะนี้มีความต้องการเตียงรักษาผู้ป่วยหนักมากขึ้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. จึงได้สั่งการให้ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข กทม. และกองทัพบก บูรณาการสรรพกำลัง โดยได้ยกระดับโรงพยาบาลสนามแห่งเดิมเพื่อดูแลผู้ป่วยหนักให้ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มณฑลทหารบกที่ 11 กระทรวงกลาโหม, เครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันปรับโรงพยาบาลสนามมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งมีความพร้อมเรื่องอาคารที่มิดชิด สะดวก สบาย มีความปลอดภัย จากเดิมที่รับดูแลผู้ป่วยสีเขียว จะยกระดับให้ดูแลผู้ป่วยหนักได้ 186 คน ภายใน 7 วัน คาดว่าจะเปิดได้ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
สำหรับการยกระดับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เพื่อดูแลผู้ป่วยหนัก ใช้หลักการเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี มีห้องแยกเครื่องออกซิเจน High flow ติดตั้งระบบไหลเวียนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย ระบบควบคุม ทีวีวงจรปิด เครื่องมอนิเตอร์ติดตามอาการ จัดแพทย์ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยเป็น 2 ชั้น 4 อาคาร มีระบบอากาศความดันลบตามมาตรฐาน ชั้นล่างเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก สีแดง 58 เตียง เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และชั้น 2 จะเป็นหอผู้ป่วยสีเหลืองเข้มและเหลืองอ่อน 128 เตียง เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นเป็นสีเขียวจะส่งต่อไป Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม
“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นบุคลากรสาธารณสุข ทั้งภาคราชการ กองทัพ กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน จะร่วมมือกันดูแลประชาชน ขอให้ไม่ต้องกังวล และจะจัดตั้งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รักษาหายจากโรคโดยเร็ว ทุกฝ่ายทำอย่างเต็มที่ด้วยความห่วงใย ต้องการให้ประชาชนและประเทศของเราปลอดภัย” นายอนุทินกล่าว.-สำนักข่าวไทย