รัฐสภา 23 มิ.ย.-พรรคการเมืองเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ พปชร.. รับปากส.ว. ถ้าผ่านวาระ 1 จะแก้ม.144,185 กลับ ยึดหลักการเดิม ปชป.-ภท.เสนอปิด สวิตช์ส.ว. เลือกนายกฯ ขณะที่ส.ว.มองว่าพรรคการเมืองแก้รธน.เพื่อประโยชน์ตัวเอง
การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ วันนี้(23มิ.ย.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคพลังประชารัฐ ว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งใจแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาว่าพรรคพลังประชารัฐและส.ว.ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เป็นความจริง หากประเด็นใดแก้ไขเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในการทำประชามติ จะช่วยสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้ลุล่วงได้ ถือเป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอมี 5ประเด็น 13 มาตรา ได้แก่ การแก้ไขมาตรา 29 มาตรา41 และมาตรา45 เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อาทิ สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การประกันตัว การให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ การแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีส.ส.เขต 400คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใดที่ส่งส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100คน ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเป็นส.ส.ปัดเศษ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา144 ให้ตัดบทลงโทษส.ส -ส.ว.และกรรมาธิการ(กมธ.) ที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประ มาณ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แต่เมื่อมีส.ว.ทักท้วงว่าการแก้ไขดังกล่าวทำให้หลักการตรวจสอบงบประมาณที่รัฐธรรมนูญปี60 เขียนไว้อย่างเข้มข้นสูญเสียไป ตนก็เห็นด้วยและรับปากว่าหากรับหลักการแก้ไขวาระที่ 1 แล้ว การพิจารณาในชั้นกมธ. ตนและพรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไขมาตรา144 ให้คงหลักการเข้มข้นรัฐธรรมนูญปี 60ไว้เช่นเดิม ขอให้สบายใจได้ แต่ขอหารือว่าควรพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ได้รับผลกระทบจากมาตรานี้ จะหาวิธีผ่อนคลายอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไม่กล้ามาเป็นกมธ.งบฯ เพราะกลัวเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงตามาตรา144
“พรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ไขมาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้ามส.ส.-ส.ว.เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ที่ส.ว.เป็นห่วงเช่นกัน ก็รับปากว่า หากรับหลักการวาระที่ 1 จะไปผลักดันชั้นกมธ.ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานข้าราชการไว้เช่นเดิม แต่ขอเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น โดยยกเว้นกรณีส.ส.-ส.ว.ไปติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ให้ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานหน่วยราชการ และให้ยกเลิกมาตรา270 ขอเปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาในการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ มาเป็นให้อำนาจส.ส.และส.ว.ร่วมกันติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เรื่องนี้ส.ว.เป็นผู้เสนอเอง อยากให้ส.ส.มาร่วมติดตามการปฏิรูปประเทศ” นายไพบูลย์ กล่าว
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ร่างว่า ขอเป็นตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอหลักการและสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มจากร่างที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรค 5 ของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29 / 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 45 และมาตรา 47 เพิ่มสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นมาตรา 49 / 1 และเพิ่มอำนาจของคณะกรรมาธิการที่จะเรียกเอกสารหรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ร่างที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 91 และมาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94 ร่างที่ 3 (1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และ (2) ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี และร่างที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม (1) หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเลิกมาตรา 65 เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (2) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 152 และมาตรา 162 โดยตัดคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 (3) ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 275 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 และเป็นการยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาบางเรื่อง และ (4) ยกเลิกมาตรา 279
“การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ สืบเนื่องจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ได้รับการบรรจุ จนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฝ่ายกฎหมายรัฐสภาอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย ดังนั้น เพื่อหาทางให้ประเทศแม้จะมีเพียงบางส่วน ก็จำเป็นต้องทำ ผมจึงหวังว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 4 ฉบับจะได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมของรัฐสภาต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แก้ไขมาตรา 55 โดยเพิ่มมาตรา 55/1 ให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,763 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
“รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนจะทำอย่างไร รวมถึงในอดีตหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ จบปริญญาตรีได้เงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่ามาตรการยูบีไอ คือการให้เงินสดแก่ประชาชน หลักประกันรายได้ถ้วนหน้าแก่ประชากรผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน น่าจะแก้ปัญหายากจนได้อย่างแท้จริง” นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า หลักประกันถ้วนหน้ารักษาทุกโรค ในอดีตถูกวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เกิดขึ้นไม่ได้ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงและทำได้ ถ้าบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เจ็บก็หายได้ แต่ความจนยังอยู่ ถ้าอยากให้คนไทยไม่เจ็บและไม่จนด้วย เห็นว่าสมควรทำเรื่องนี้ โดยกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐช่วยเหลือเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เกิดขึ้นจริง
“สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สอง คือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี แต่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 20 ปีนั้นไม่เหมาะสม จึงเห็นสมควรให้แก้มาตรา 65 กำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สาม เราเสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ คือ มาตรา 159 ที่มานายกรัฐตรี และยกเลิก มาตรา 272 การให้อำนาจส.ว. เลือกนายกฯ” ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ โดยขอแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพ เลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มองว่า วุฒิสภายังมีความจำเป็น ประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัดเฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนคือส.ส.
“การแก้ไขมาตรา 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้น เพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่ได้มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือลงเลือกตั้งได้ และหลังเลือกตั้งแล้วบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน อีกทั้งการปลดล็อกมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับ เพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถแปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมในวาระ 2 ทั้งนี้การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20% ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า จากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างที่เสนอมาเห็นว่าระบบการเลือกตั้ง พรรคเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน มีอิทธิพลล้วงลูกและก้าวก่ายโดยเฉพาะงบประมาณและข้าราชการประจำ และว่า “นักการเมืองกินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ส.ว. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เป็นเรื่องของการเอาชนะคะคานทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของประชาชน”
นายวันชัย กล่าวว่า เป้าใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือระบบเลือกตั้งที่มองไปว่าใครจะได้ส.ส.มากกว่า ที่ผ่านมาพูดกันมาตลอดว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทุกระดับ ทุจริตคอรัปชั่นหลายที่ แต่ไม่มีใครคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการนี้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 60 ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมคัดคนลงสมัครรับเลือกตั้ง และทุกคะแนนของประชาชนทุกคนมีราคา มีความหมายไม่ทิ้งน้ำ ทำให้มีโอกาสได้พรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน
“แต่ตามกฎหมายที่เสนอแก้ พรรคเล็กพรรคน้อยจะสูญพันธุ์ พรรคใหญ่ทุนหนาจะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชนในการเมืองจากรัฐธรรมนูญปี 60 อย่างสิ้นซาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องการปิดสวิตช์ส.ว. ผมได้ประกาศไปแล้วตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนให้ตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี” นายวันชัย กล่าว.-สำนักข่าวไท