รัฐสภา 22 มิ.ย. – กมธ.แก้ความยากจน ส.ว. ค้าน แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ 185 เพราะตัดบทลงโทษ ส.ส. และ ส.ว. ก้าวก่ายงบการเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์เป็นประธาน ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 13 ฉบับ ที่รัฐสภากำลังพิจารณาโดยกรรมาธิการ มีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185 เนื่องจากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรา ได้วางหลักการสำคัญ ที่ห้ามมิให้ ส.ส. สว. รวมถึงคณะรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆของหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นหลักการที่บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แม้ว่าการเสนอแก้ไขครั้งนี้จะยังไม่ได้ทำลายหลักการสำคัญดังกล่าว แต่การเสนอแก้ไขตัดทอนส่วนสำคัญ ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 ออกไป ทั้งการตัดบทลงโทษ ส.ส.สว.ครม. และข้าราชการประจำที่มีส่วนในการเข้ามาใช้งบประมาณรายจ่าย ตัดข้อห้าม สส.และ สว.เข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายหรืออนุมัติงบประมาณรายจ่าย และการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากบทบัญญัติส่วนที่ถูกเสนอตัดออกไปจาก 2 มาตรา ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้รับสมญาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” โดยนำมาเป็นสาระสำคัญชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนในช่วงก่อนลงประชามติ ทั้งนี้ บทบัญญัติในมาตรา185 ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้น หากมีการแก้ไขตัดออกจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ การค้า และการลงทุน ได้
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการฯ ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภา ชี้แจงถึงการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 144 และ 185 ของพรรคพลังประชารัฐ แต่สุดท้าย ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจการลงมติของวุฒิสภา ที่มีเอกสิทธิ์ในการลงมติ ส่วนการจัดสัมมนาถึงแนวทางการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จัดโดยวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย) นั้น ก็เป็นการจัดเสวนา Morning Talk ไม่ได้มีการกำหนดถึงแนวทางการลงมติใด ๆ แต่เป็นการให้ข้อมูลแก่ ส.ว.ในการพิจารณาลงมติ เช่นเดียวกับการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถือเป็นเรื่องที่ ส.ว.แต่ละคนจะพิจารณา.-สำนักข่าวไทย