กรุงเทพฯ 29 ม.ค.-มท.1 สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์รับมืออัคคีภัย-อุบัติภัยตลอด 24 ชั่วโมงช่วงเทศกาลตรุษจีน 10-12 ก.พ.นี้ พร้อมกำชับปฏิบิตามมาตรการสธ.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 10 – 12 กุมภาพันธ์นี้เป็นเทศกาลตรุษจีนตามประเพณีปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งจะสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษด้วยการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง จุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการเกิดอัคคีภัย รวมถึงอุบัติภัยขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลดังกล่าว ยังเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมักจะมีการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก
“เพื่อป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงสั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ 1. ด้านเตรียมความพร้อม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สำรวจ ตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกภาคส่วนให้เกิดความชัดเจน เข้มงวดตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสารที่มีสภาพไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่าย และซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและระบบสื่อสาร ต้องเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานเฝ้าระวัง ตรวจตรา อาคารบ้านเรือน พื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ และสถานบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่จัดงานเฉลิมฉลองและจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิงโดยเคร่งครัด รวมถึงประสานการปฏิบัติกับเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามมาตรการความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ ขับรถความเร็วเกินกำหนด ขับรถย้อนศร ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ แซงในที่คับขัน เมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้มีจุดตรวจตามจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตามสภาพพื้นที่ และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางปฏิบัติตนในการป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้น รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกประเภท ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษในการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ตลอดจนการจุดประทัด ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ตลอดจนบทลงโทษทางกฎหมายกรณีการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
“2. ด้านการเผชิญเหตุ ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังสถานที่ และกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น การจุดประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติภัยในกรณีอื่น ๆ ได้โดยง่าย และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัยและไฟฟ้าส่องสว่าง เตรียมความพร้อมในพื้นที่ หรือชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงภัย เพื่อเฝ้าระวังเหตุ และพร้อมปฏิบัติงานได้ในทันทีที่เกิดภัย รวมทั้งจัดระเบียบการจราจรและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย และเฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน และสถานที่ท่องเที่ยว หากเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยหรือสาธารณภัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และรายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเทศกาลอย่างเคร่งครัดด้วย.-สำนักข่าวไทย