กระทรวงมหาดไทย 27 ม.ค.-รมว.มท.ขอบคุณ อช.- ผู้นำอช.ทั่วประเทศ เนื่องในวาระครบ 52 ปี ย้ำสานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชน สู่ความยั่งยืน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่งสารถึงอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลทั่วประเทศ เนื่องในวาระครบรอบ 52 ปีผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ว่า กระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณอาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมานะ อดทน เสียสละ และดำรงตนเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด และในวาระครบรอบ 52 ปีของการดำเนินงานอาสาพัฒนาชุมชน
“ขอฝากให้ร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน / หมู่บ้าน ภายใต้แนวคิด “รวมพลังอช. สานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน” โดยเป็นการร่วมสร้างสังคมพัฒนาชุมชนใหม่ ด้วยการเติมความรู้ให้คนในชุมชน ร่วมพัฒนาบ้านเกิด 3 เรื่อง ประกอบด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสตร์พระราชา และนวัตกรรมที่เหมาะสม ฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม และร่วมเป็น ส่วนหนึ่งของกลไกสร้างความสามัคคี มีจิตอาสา พัฒนาชุมชน เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติมีความพอมีพอกิน ในขั้นพื้นฐาน รวมกลุ่มยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาความเข้มแข็งในขั้นกลางและขั้นก้าวหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบครัว มีความสุข ชุมชนและประเทศชาติมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) เป็นเพื่อนคู่คิดของพัฒนากรกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาอาสาพัฒนาชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2512 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่มีจิตอาสา สมัครเข้าร่วมพัฒนาชุมชนของตนทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบล โดยเรียกอาสาสมัครระดับหมู่บ้านนี้ว่า “อาสาพัฒนาชุมชน หรือ อช.” ทุกหมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 4 คน และระดับตำบลเรียกว่า “ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน หรือ ผู้นำ อช.” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเวทีประชาคมอาสาพัฒนาชุมชน ตำบลละ 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน
“ปัจจุบันมีอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) จำนวน 289,580 คน และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) จำนวน 13,500 คน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้าน / ตำบลที่ได้รับคัดเลือก โดยกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข พัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน / โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งเป็น ผู้ประสานงานระหว่างองค์กรประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนต่าง ๆ นอกจากนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายภารกิจให้ อช./ผู้นำ อช. ดำเนินการเพิ่มเติม10 ภารกิจ ดังนี้ 1) การจัดเก็บข้อมูล จปฐ. /กชช.2 ค. 2) การขับเคลื่อนแผนชุมชน 3) การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4) การจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชน 5) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า 6) การส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย 7) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 8) การแก้ไขปัญหาความยากจน 9) การส่งเสริมอาชีพ และ 10) การส่งเสริมกองทุนชุมชน ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือว่า อช. /ผู้นำ อช. เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายภารกิจให้ อช./ผู้นำ อช. เป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนที่ตกเกณฑ์จปฐ. ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน / หมู่บ้าน โดยเน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการร่วมกับการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
“การจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 52 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทอดผ้าป่า หรือศาสนกิจอื่น ๆ ของแต่ละศาสนา กิจกรรมการแสดงพลังอาสาพัฒนาชุมชน ได้แก่ การอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวคำปฏิญาณตน กิจกรรมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย สัมมนาทางวิชาการ การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” การจัดนิทรรศการผลงาน/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของ อช./ผู้นำ อช. กิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น ทำความสะอาดแม่น้ำ คู คลอง ทำความสะอาดสถานที่สำคัญของชุมชน/หมู่บ้าน กิจกรรมเอามื้อสามัคคี กิจกรรมชุมชนเกื้อกูล เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กิจกรรมมอบเกียรติบัตรให้กับ อช./ผู้นำ อช. ที่มีผลงานดีเด่น และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การบริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ กิจกรรมแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผักในธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมฯ ให้ดำเนินการตามวิธีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตามแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอเชิญชวนพี่น้องอช. และผู้นำ อช.ร่วมกันน้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา ต่อยอด” สู่การปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสรรสร้างชุมชน สังคมสู่ความเข้มแข็งและมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยสร้างภูมิคุ้มกันในทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดี ท่ามกลางวิกฤตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก โดยเน้นการให้ความสำคัญของการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดิน น้ำ สภาพแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร เพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals –SDGs ต่อไป.-สำนักข่าวไทย