ศาลปกครองสูงสุด 14 ต.ค.-ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งปลดออก “ศิโรตม์” พร้อมให้คืนสิทธิ์ที่ควรได้รับ จากปมโอนหุ้นชินคอร์ป หลังคำอุทธรณ์ ป.ป.ช.ฟังไม่ขึ้น
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ในคดีที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น ผู้ฟ้องคดีกับปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้อง โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องอุทธรณ์ ซึ่งคดีดังกล่าวนายศิโรตม์ฟ้องว่าปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551ลดโทษนายศิโรตม์จากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ กรณีร่วมกันพิจารณาว่าการรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์จากน.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา และจากการให้โดยเสน่ห์ เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จนเป็นเหตุให้นายศิโรตม์เสียหาย
ก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 658/2551ในส่วนที่ลงโทษปลดนายศิโรตม์ออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่านายศิโรตม์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ คำสั่งลงโทษปลดนายศิโรตม์ออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวของศาลปกครองชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่านายศิโรตม์วินิจฉัยความเห็นในข้อกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลของหลักกฎหมายและผลประโยชน์ของราชการ มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น พร้อมกันนี้ยังมีข้อสังเกตให้ปลัดกระทรวงการคลังคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีควรได้รับ หากไม่ได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด.-สำนักข่าวไทย