รัฐสภา 7 ต. ค. – คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา เชิญผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยฯ แจงเกณฑ์การพิจารณาผู้ขอรับทุน ยันเป็นไปตามกฎหมาย ชี้หากเห็นว่าการจัดสรรทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สามารถร้องต่อศาลปกครองได้
นายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา ได้เชิญ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าให้ข้อมูลจากกรณีมีข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบและยับยั้ง การอนุมัติการให้ทุนสนับสนุนผู้ขอรับทุนจากกองทุนสื่อฯ ในปี2563 จำนวน 300 ล้านบาท ที่อาจผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ถึงหลักเกณฑ์และระยะเวลาการพิจารณา ตลอดจนสัดส่วนการให้ทุน
นายธนกร ชี้แจงว่า ได้เข้ามารับตำแหน่งในช่วงสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งได้มีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาให้ทุน ตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยมีผู้ขอรับทุนจำนวน 1,460 โครงการ ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. – 3 กันยายน จากนั้นได้มีการพิจารณาโครงการของผู้ขอรับทุนโดยคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจำนวน 5 ชุด ตั้งแต่วันที่ 11- 16 กันยายน ซึ่งยืนยันว่าทางสำนักงานเป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูลเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาแต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่มีการร้องเรียนเพราะเห็นว่าการสนับสนุนทุนดังกล่าวไม่ควรให้กับภาคเอกชนเนื่องจากเป็นองค์กรแสวงหากำไรนั้น ส่วนตัวมองว่าควรมีความเท่าเทียมของผู้เสนอโครงการทุกกลุ่ม และหากเห็นว่าการจัดสรรทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนสื่อฯ ก็สามารถร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวได้
ทั้งนี้ อนุกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากอนุกรรมาธิการอีกหลายประเด็น ที่มองว่าสัดส่วนการให้ทุนนั้นเหมือนพีระมิดหัวกลับ โดยองค์กรสาธารณประโยชน์ มีโครงการที่ผ่านเห็นชอบเพียง 9 โครงการ โครงการจากสถานศึกษาหรือหน่วยงานศึกษาผ่านเห็นชอบ 12 โครงการ ในขณะที่หน่วยงานนิติบุคคล ซึ่งมีกำลังทุนทรัพย์มากกว่า กลับมีโครงการที่ผ่านเห็นชอบถึง 141 โครงการ จึงตั้งคำถามถึงความเหมาะสม รวมถึงระยะเวลาการพิจารณาทั้ง 1,460 โครงการเพียง 7 วัน เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสงสัยถึงประเด็นที่พบว่า หนึ่งในผู้เสนอโครงการคือ บริษัท จริยวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งได้เสนอโครงการเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง จังหวัดชายแดนภาคใต้ บนวงเงิน 3 ล้านบาท แต่กลับผ่านความเห็นชอบให้รับทุน โดยจัดตั้งมาได้เพียง 4 เดือน
นายธนกร ชี้แจงว่า จากการสอบถามไปยังบริษัทดังกล่าวหลังมีการอ้างชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง ในกสทช. ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีตัวตนจริง ไม่ใช่บริษัทนอมินีของใคร ซึ่งมีบทบาทเช็คข่าวปลอม โดยจัดตั้งในรูปแบบนิติบุคคล ทำงานร่วมกับต่างประเทศ และสถานทูตแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ยืนยันว่าพร้อมชี้แจงรายละเอียดด้วย.-สำนักข่าวไทย