ม.ธรรมศาสตร์ 6 ต.ค.-“จาตุรนต์” เตือนผู้มีอำนาจหยุดคุกคามทำลายการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา วอนอย่าสร้างเงื่อนไขทำให้เกิดความรุนแรง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขัดแย้งมากขึ้น ขอประชาชนทั้งประเทศไม่ปล่อยเยาวชนต่อสู้ลำพัง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวปาถกฐาในงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 2519 ว่า ตนอาจจะเป็นอดีตนักศึกษาจากต่างจังหวัดคนแรก ๆ ที่มาพูดในโอกาสนี้ ที่ผ่านมา มีการพูดถึง 6 ตุลา โดยเน้นเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว 6 ตุลา ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ธรรมศาสตร์ เพราะเกี่ยวข้องกับนักศึกษาทั่วประเทศ
“6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างของการกระทำความผิดที่ไม่ต้องรับโทษ และเป็นบทเรียนให้แก่สังคมไทยถึงการใช้กำลังกับผู้เห็นต่างที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขณะที่การใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยม ก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบ มากกว่านิสัยใจคอของคน ระบบเผด็จการถือว่ามีกำลังอาวุธในมือคือผู้มีอำนาจสูงสุด หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ยุติปัญหาด้วยการขจัดคนเห็นต่าง แต่เกิดจากการใช้การเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ รวมถึงการผ่อนคลายให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างในเวลาต่อมา ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทั้งหลายสามารถคืนสู่สังคมและมีที่ยืนอยู่ได้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุนต์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาในอดีต มีจุดรวมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองและการมีความใฝ่ฝันว่าอยากเห็นสังคมที่ดี รวมทั้งต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่พลังของนักศึกษาเป็นที่ยอมรับของประชาชน เนื่องจากเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ แต่จุดที่ต่างกัน คือ ปัญหาของบ้านเมืองที่ซับซ้อนกว่าในอดีต อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันเรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างดีทั้งประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกล นอกจากการเรียนรู้ข่าวสารที่สำคัญแล้ว ก็คือความจริงของสังคมไทยในหลายปีมานี้ที่ย้อนแย้งจากสิ่งที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีนี้ ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ เนื่องจากในระยะหลัง โดยเฉพาะ 1-2 ปีนี้ มีการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา โดยเฉพาะ 6 ตุลาโดยคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีการวิเคราะห์และศึกษามาอย่างลึกซึ้ง และทวงถามหาคนผิดและความยุติธรรม ตลอดจนในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการแสดงความอาลัย แต่กำลังจะมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดี ดังนั้นควรจะมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยใจที่เปิดกว้างและทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถนิ่งเฉยดูความล้าหลังของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน จึงหวังว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะได้เรียนรู้จากอดีต หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยุดคุกคามและหาทางทำลายความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา โดยการแสดงความพร้อมที่จะรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวิกฤติของประเทศร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย
“ผมไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่อยากจะย้ำว่าใครที่อยากจะเตือนนักศึกษาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะเกิดแบบเดือน 6 ตุลานั้น ก็ขอให้ทำความเข้าใจเหตุการณ์เดือนตุลาว่านักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปราม ขณะที่ความรุนแรงนั้นมาจากคนชั้นนำทั้งสิ้น ถ้าจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่าอย่าสร้างความเกลียดชัง อย่าสร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะได้ใช้ความรุนแรง สถานการณ์ในบ้านเมืองวันนี้หากช่วยกันทำความเข้าใจให้เห็นปัญหาร่วมกัน การป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาก็จะยิ่งทำได้ดีมากยิ่งขึ้น ผมไม่เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้จะซ้ำรอย 6 ตุลา เมื่อดูจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ หากจะเทียบกับอดีต สถานการณ์ในวันนี้มีโอกาสพัฒนาใกล้เคียงกับ 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 มากกว่า 6 ตุลา ถ้าประชาชนทั้งประเทศพร้อมที่จะร่วมกัน ไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต่อสู้ตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีต” นายจาตุรนต์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย