คุก“วัฒนา” 99 ปีบ้านเอื้ออาทร

ศาลฎีกานักการเมือง 24 ก.ย.-ศาลนักการเมืองพิพากษาจำคุก “วัฒนา” 99 ปี คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร หลังประกันตัว ห้ามออกนอกประเทศ ออกหมายจับ “อริสมันต์”


ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 มาตรา 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 91

คดีนี้เริ่มพิจารณาไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมาจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ขณะที่จำเลยที่ 6-7, 10-12 หลบหนีคดี ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งองค์คณะพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่านายวัฒนา จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับกิจการการเคหะแห่งชาติ ดูแลผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือนโยบายโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ โดยแก้ไขการยื่นข้อเสนอทำบ้านเอื้ออาทร ให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องยื่นหลักประกัน และให้การเคหะแห่งชาติมีมติอนุมัติโครงการ ซึ่งพยานโจทก์มีความเห็นต่างกันถึงข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ การที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวเนื่องกับผู้ปกระกอบการต้องปฏิบัติ ลำพังเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 แม้จะมีการเรียกรับ แต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง เนื่องจากผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตามประกาศที่แก้ไขใหม่อยู่แล้ว จึงยังบ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยใช้อำนาจแทรกแซงคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ


ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยที่ 1 ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 หรือไม่ องค์คณะเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีความเกี่ยวข้องนโยบายเท่านั้น แต่ลักษณะการกระทำผิดคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่นายอภิชาติ จำเลยที่ 4 และ น.ส.รุ่งเรือง จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นคนนอกจะกระทำได้เอง โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ไม่อาจแสดงตนว่าเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 ได้เอง และที่นายพรพรหม จำเลยที่ 3 จัดส่งเอกสารการประชุมให้น.ส.รัตนา จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคนนอก ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะส่งเองได้ อีกทั้งได้ความจากพยานว่าจำเลยที่ 1 สั่งจำเลยที่ 3 ให้จัดส่งเอกสาร แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ติดตามสนใจโครงการบ้านเอื้ออาทรอย่างใกล้ชิด เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้เห็นเรื่องการเรียกรับเงิน

การที่จำเลยที่ 1 ปล่อยให้จำเลยที่ 4 แสดงตนอย่างไม่เป็นทางการ และอ้างว่าผู้ประกอบการติดต่อจ่ายเงินกับจำเลยที่ 4 เอง เพื่อให้ตนพ้นผิดหาได้ไม่ พฤติการณ์จำเลยที่ 1เป็นการเอื้ออำนวยให้จำเลยที่ 4 โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 1 แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้ติดตามทวงเงินผู้ประกอบการ อีกทั้งพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 4 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1กระทำการเข้าไปมีส่วนเรียกรับทรัพย์ผู้ประกอบการแต่ละรายล่วงหน้า เพื่อตอบแทนการอนุมัติโครงการ ส่วนการเรียกรับและการเรียกเงินโดยตรง แม้ทางไต่สวนจะไม่เชื่อมโยงกับจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินเองก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เนื่องจากหลักฐานชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้นำเงินมามอบให้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 148 จึงไม่จำเป็นต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอญามาตรา 157

ส่วนจำเลยที่ 4 มีผู้ประกอบการเบิกความว่าจำเลยที่ 4 แนะนำตัวเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาโครงการอสังหาริมทรัพย์ สามารถช่วยดำเนินการให้อนุมัติก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรได้ เมื่อผู้ประกอบการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 4 จะได้รับการอนุมัติก่อสร้างทุกราย แม้บางรายจะได้รับการอนุมัติหลังปิดโครงการไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่ามีการทำสัญญา ประกอบกับไม่มีผลงานแสดงให้เห็นสมเหตุสมผลกับเงินที่จ่ายให้จำเลยที่ 4 จำนวนร้อยกว่าล้านบาท อีกทั้งผู้ประกอบการรายอื่นมีประสบการณ์ธุรกิจก่อสร้างมาก่อน ย่อมมีประสบการณ์มากกว่าจำเลยที่ 4 ที่ชำนาญเพียงด้านการค้าข้าว และไม่มีธุรกิจก่อสร้างจริงจัง ถ้าจำเลยที่ 4 ไม่อ้างว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องว่าจ้างจำเลยที่ 4 เพียงรายเดียว ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีความชำนาญด้านการก่อสร้าง เงินที่จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษาเป็นข้ออ้างให้ผู้ประกอบการสามารถลงบัญชีได้


ส่วนจำเลยที่ 5-7 เปิดบัญชีเพื่อประสานงานและติดตามทวงเงินจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 หากไม่รู้เห็นก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 4 จะให้เข้ามาทำงาน เพราะจะทำให้งานเสีย และเป็นการเปิดเผยแผนการให้คนนอก จากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 5-7 มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนงานให้สำเร็จ จึงฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 4 กระทำผิด สำหรับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด 1 กระทง จึงถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งองค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่าแม้จะไม่ปรากฏว่าผู้หญิงที่รับเงิน 40 ล้านบาทเป็นใครและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 10 อย่างไร แต่คำเบิกความของพยานเป็นการซักถามถึงการจ่ายเงินด้วยความระมัดระวัง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 เป็นการยุยงส่งเสริมให้พยานตัดสินใจจ่ายเงิน 40 ล้านบาทเพื่อให้โครงการได้รับอนุมัติ ประกอบกับเช็คที่จ่ายไปถึงจำเลยที่ 7-8 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับขบวนการในคดีนี้ แม้ผู้กระทำผิดจะรู้ถึงความช่วยเหลือของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 ถือเป็นการสนับสนุน

ส่วนของนายมานะ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เรียกรับทรัพย์สินหรือรู้เห็นด้วย จำเลยที่ 2 ไม่น่ามีส่วนร่วม เป็นเพียงการประสานให้จำเลยที่ 11 ยื่นเอกสารให้ทันเท่านั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจสนับสนุนจำเลยที่ 1 สำหรับนายพรพรหม จำเลยที่ 3 เดิมเป็นข้าราชการ ที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ช่วยประสานงาน พยานไม่เห็นว่าจำเลยที่ 3 ทำงานนอกเหนือการประสานงานทั่วไป ส่วนกรณีที่ให้จัดส่งเอกสารตามที่จำเลยที่ 5 ร้องขอ เป็นการประสานในกรอบหน้าที่ธุรการ ขณะที่มีพยานบอกเล่ากลับคำให้การ ทำให้คำให้การมีน้ำหนักลดน้อยลง ไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย

ส่วนประเด็นจำเลยที่ 9, 11-14 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 9, 11-14 เป็นฝ่ายที่ถูกข่มขืนใจให้นำเงินมามอบให้ทั้งที่มีคุณสมบัติอยู่แล้ว เป็นฝ่ายถูกจูงใจ ไม่ถือเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนการทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดเป็นตัวการ จำเลยที่ 9, 11-14 จึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุน
ศาลพิเคราะห์แล้วพิพากษาว่า นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 มีความผิดฐาน ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 9 ปี รวมจำคุก 99 ปี แต่โทษจำคุกให้จำคุกสูงสุด 50 ปี และจำคุกนายอภิชาติ จันทร์สกุลพรหรือเสี่ยงเปี๋ยง จำเลยที่ 4 นักธุรกิจค้าข้าว รวม 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี แต่ให้โทษจำคุกสูงสุด 50 ปี

จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทของเสี่ยเปี๋ยง จำคุก 4 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรสซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง จำกัด มีความผิด 11 กระทง ๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี จำเลยที่ 7 น.ส.รุ่งเรือง คุณปัญญา พนักงานบริษัทเพรซิเดนท์ฯ ความผิด 8 กระทง กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 32 ปี จำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยให้จำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 8 บริษัท เพรซิเดนท์ อะ กริ เทรดดิ้ง จำกัดที่มีนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทน ให้ปรับเงินกว่า 275,000 บาท

ศาลยังสั่งให้นายวัฒนา จำเลยที่ 1 นายอภิชาติจำเลยที่ 4 น.ส.กรองทองจำเลยที่ 6 และ บริษัท เพรซิเดนท์ฯ จำเลยที่ 8 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,323,006,750 บาท น.ส.รัตนา จำเลยที่ 5 จำนวน 763 ล้านบาทเศษ น.ส.รุ่งเรือง จำเลยที่ 7 จำนวน 1,056 ล้านบาท นายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 จำนวน 40 ล้านบาท โดยโทษปรับให้ดำเนินการชำระเงินภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะยึดทรัพย์

ขณะเดียวกัน ศาลมีคำสั่งยกฟ้องนายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ จำเลยที่ 2 นายพรพรหม วงศ์วิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงินบริษัทปริญสิริจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 บริษัทจิวเวอร์รี่อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 11 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัดจำเลยที่ 12 บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 13 บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และจำเลยที่ 14 น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ และออกหมายจับน.ส.กรองทอง จำเลยที่ 6 น.ส.รุ่งเรือง จำเลยที่ 7 และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เพื่อให้นำตัวมารับโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาอนุญาตให้นายวัฒนาประกันตัว โดยทนายความและญาติยื่นหลักทรัพย์จำนวน 10 ล้านบาท เป็นบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาทเเละเติมเงินสดเพิ่มอีก 5 ล้านบาท โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นได้รับอนุญาต.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

กกต.สั่งเอาผิดอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ

กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี

ข่าวแนะนำ

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค ไม่ให้ระบาดในไทย พร้อมยกมาตรรักษาสุขภาวะในพื้นที่อย่างเข้มข้น

ฉายารัฐบาลปี67

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง”

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” ฉายานายกฯ “แพทองโพย” ด้าน 7 รัฐมนตรีติดโผ “บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี” พ่วง 3 รัฐมนตรีโลกลืม ส่วนวาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”

เลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี พร้อมขอบคุณคนเสื้อแดง และนายทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วยผลักดัน