ศาลฎีกา 24 ก.ย.-“วัฒนา เมืองสุข” ไม่กังกวลคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ยันไม่หนี มั่นใจไม่ผิดตามข้อกล่าวหา หลังสู้มา 14 ปี ขอทุกฝ่ายร่วมแก้รธน. พาบ้านเมืองออกวังวนขัดแย้ง
นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มารับฟังคำพิพากษาตามนัดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา สมัยดำรงตำแหน่งดังกล่าวในรัฐบาลทักษิณ 2
นายวัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมรับฟังคำตัดสินหลังจากสู้คดีมา 14 ปี ผ่านรัฐประหาร 2 ครั้งมี 10 คดี ซึ่งคดีนี้เป็นคดีสุดท้าย สำหรับคดีดังกล่าวเกิดจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนกระทั่งรัฐประหารเมื่อปี 2557 คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แต่มีพิรุธทุกขั้นตอน พยานรับกลางศาลว่าไม่รู้เรื่องและถูกเรียกให้มาเซ็นชื่อ หากคำพิพากษาในวันนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะใช้สิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย จะออกอย่างไรก็ต่อสู้ไปตามครรลอง ส่วนจำเลยอื่น ๆ ไม่ทราบและไม่ได้ติดต่อ
“ผมไม่กังวลคดีนี้ เนื่องจากทุกขั้นตอนทำถูกต้อง ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด และในรายงานของป.ป.ช.ก็ระบุว่าทุกอย่างทำถูกต้อง ผมถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา ข้อหาแรกอ้างว่าออกทีโออาร์ตามใจชอบ ซึ่งป.ป.ช.ระบุว่าการออกทีโออาร์เพื่อป้องกันความล่าช้าและให้เกิดประโยชน์ ส่วนที่อ้างว่าเอาโควต้าไปขาย ป.ป.ช.ก็ระบุว่าทุกคนที่ขอมาได้รับหมด ส่วนข้อหาที่ 2 อ้างว่าออกทีโออาร์ทำให้การเคหะฯ เสียหาย เพราะซื้อแพงขึ้น ซึ่งป.ป.ช.ระบุว่าไม่ได้ซื้อแพงขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะราคาที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องไปทำอะไรที่เกิดประโยชน์มากมาย ไม่มีใครได้ประโยชน์ แต่การเคหะฯ ได้ประโยชน์ นี่คือผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สุดท้ายอ้างว่าผมเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งอัยการรับว่าหาหลักฐานไม่ได้ว่าผมเข้าไปเกี่ยวข้อง และผมได้โพสต์เฟซบุ๊กอ้างอิงหลักฐานต่าง ๆ ยืนยันที่ทำเป็นประโยชน์ จึงไม่คิดจะหนีไปไหน” นายวัฒนา กล่าว
นายวัฒนา กล่าวว่า ขอฝากเรื่องการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนได้เขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนเอง บ้านเมืองจะได้หมดยุคการใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ และหลักนิติธรรมจะได้กลับสู่บ้านเมืองนี้ และว่า “ที่ผ่านมาที่โดนจับและโดนอุ้มก็ต่อสู้ในเรื่องนี้”
เมื่อถามถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวัฒนา กล่าวว่า อยากจะฝากว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนไปเขียนกติกาของประชาชนเองเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะอำนาจเป็นของประชาชน และไม่ได้เป็นการตีเช็คเปล่าเหมือนกับการที่ส.ว.ออกมากล่าวอ้าง เพราะเมื่อประชาชนร่างเสร็จก็ต้องเข้าสู่รัฐสภา ถ้ารัฐสภาเห็นว่าไม่ดีก็ไม่ต้องรับก็ได้ หรือสุดท้ายก็ต้องไปประชามติ ประชาชนเป็นคนตัดสิน จะไปห่วงอะไร นี่คืออำนาจของประชาชน บางคนอ้างว่าเสียค่าใช้จ่าย บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งมีปัญหา ซึ่งตนเห็นว่าเศรษฐกิจเสียหายมากกว่าการทำประชามติ
“เราจะเสียเงินทำประชามติเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ทำไมจะทำไม่ได้ จะได้ยุติความขัดแย้ง และการให้ประชาชนไปเขียนดีที่สุด เพราะแก้รายประเด็นก็เถียงกันทุกประเด็น สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ ก็เอาอำนาจให้ประชาชนไปเขียน เขียนมาอย่างไรก็ยอมรับกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะประชาชนมาจากการเลือกตั้ง ถ้าเรายอมรับกระบวนการนี้มันก็จบ แล้วจะไปหวงอะไรอำนาจที่ว่านั่น ผมว่ามาเอาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้ง ซึ่งผมก็เจอด้วยตัวเอง เข้าใจดีว่าเวลาบ้านเมืองไม่มีหลักยุติธรรมเป็นอย่างไร ผมรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกอุ้มถูกเอาไปขังไม่รู้กี่ที ก็สู้กัน มีคดียัดมา ผมมีตั้ง 10 คดี คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าจะออกอย่างไร ก็ต้องสู้กันต่อไป”นายวัฒนา กล่าว.-สำนักข่าวไทย