ส.ว.ตั้งคำถามร่าง รธน.ใหม่ มีประโยชน์หรือไม่

รัฐสภา 23 ก.ย.- ส.ว.ยังตั้งคำถามเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ “เสรี” เปิดฉากทำ ส.ส.ก้าวไกลประท้วงวุ่น


นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน การกล่าวหาวุฒิสภาแต่งตั้งจากเผด็จการ ไม่เชื่อมโยงประชาชน วุฒิสภาถูกพูดถึงในทางเสียหาย แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าที่เข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้มาจากอำนาจเผด็จการ แต่เข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ พร้อมระบุถึงการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะบ้านเมืองวิกฤต การกล่าวหาเป็นการเมืองเก่า ไม่ได้ทำให้เจริญก้าวหน้า

นายเสรี ยังกล่าวในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ขณะนั้นประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น แต่ขณะนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่เองก็ไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นกัน และการให้ ส.ส.ร.มาจากประชาชน พูดแล้วสวยหรู แต่ต้องคิดถึงกระบวนการ ต้องตัดสินใจด้วยเหตุผลและข้อมูล บนพื้นฐานประโยชน์คนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เอง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ห้ามให้ ส.ส.ร.เป็น ส.ว. ซึ่งตนเองก็สมัครเป็น ส.ว. และได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งประธานรัฐสภาเองก็ทราบปัญหา ส.ว.หากมาจากการเลือกตั้ง ก็มีฐานที่มาจาก ส.ส. ถูกเรียกว่าสภาผัวเมีย สภาหมอนข้าง สุดท้ายยึดโยงพรรคการเมือง แยกจากกันกับ ส.ส. ไม่ออก สุดท้าย ส.ว.ก็ถูกแทรกแซง รับเงินจาก ส.ส. จนขาดความอิสระ เวลาเลือกองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซง จนสุดท้ายเป็นวิกฤตประเทศ


นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุด ที่คิดว่ามาจากประชาชน บางครั้งมีข้อจำกัด ต้องแก้ปัญหา จนมารัฐธรรมนูญปี 2550 ให้มี ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และจากการสรรหาครึ่งหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาปลา 2 น้ำขึ้นมาอีก มีการเขียนคุณสมบัติไม่ให้เป็นเครือญาติกันกับ ส.ส. เพราะฉะนั้นรูปแบบ ส.ว.ก็ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาแต่ละช่วงเวลา โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงให้ ส.ว.มาจากการเลือกโดย คสช. ซึ่งการทำหน้าที่ของ ส.ว.ก็อยู่บนพื้นฐานรักษาประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศ ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกันแต่งตั้งมาเพราะเป็นคนที่ คสช. ไว้ใจ เป็นเรื่องปกติ

นายเสรี กล่าวว่า การเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล ไม่อยากชี้นำว่าจะสรุปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการเสนอให้มี ส.ส.ร. และบรรยากาศปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้องทางการเมืองสูง ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้านึกภาพแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมาจากพรรคการเมืองเพราะมีฐานเสียง มีหัวคะแนน มีวิธีการเลือกตั้งชนะ และอาจเห็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ซื้อเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยกังวลใจ เพราะสุดท้ายคือการอ้างอิงประชาชน แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือความแตกแยก การดูหมิ่นใส่ร้านสถาบัน มีข้อเสนอที่คิดไปไกล พูดกันไกลมา ก้าวไกลจริงๆ

จนทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่าเป็นการอภิปรายพาดพิงมาถึงพรรคก้าวไกล ดูหมิ่นสถาบัน จึงขอให้ถอนคำพูดกล่าวหาพรรคก้าวไกลในเชิงดูหมิ่นสถาบัน ขณะที่นายเสรียืนยันว่าไม่ได้พูดว่าพรรคก้าวไกลซื้อเสียง ดูหมิ่นสถาบัน เพียงแต่ใช้ภาษาไทยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก้าวไกล ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่าถ้าไม่ถอน จะถอนหงอก ถ้าไม่พูดภาษาไทย ก็ขอให้พูดภาษาคน แต่นายเสรียังยืนยันไม่ถอนคำพูดเพราะเป็นภาษาไทย ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค หากพูดว่าภูมิใจความเป็นไทยก็จะไปเป็นชื่อพรรคภูมิใจไทยอีก และมองว่าพรรคก้าวไกลร้อนตัว ถ้าไม่ได้ทำก็คงไม่รู้สึกอยู่แล้ว ขณะที่ประธานรัฐสภายืนยันให้ถอนคำว่าก้าวไกล จนสุดท้ายนายเสรียอมถอนคำพูด


จากนั้นนายเสรี อภิปรายต่อว่า การจะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง มีผลกระทบกับหลายส่วน กังวลใจเมื่อการเลือกตั้งของ ส.ส.ร. เกิดขึ้น ก็จะมาจากฐานเสียง ส.ส. อยู่ดี รัฐธรรมนูญจึงเขียนให้ ส.ส.มีสิทธิ์ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างดี ซึ่ง ส.ว.จะเห็นด้วยเพราะมีเหตุผล เช่นการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องที่ไม่สามารถใช้ได้จริง แต่ตอนนี้ ส.ส.ลืมว่าตัวเองมาจากประชาชนหรือไม่ จึงเสนอให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งซ้ำ ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประท้วงกรณีที่นายเสรีพาดพิงว่า ส.ว.ในอดีตไม่เป็นอิสระ รับเงินจาก ส.ส. โดยขอให้เอ่ยชื่อ ส.ว.ในอดีตที่ถูกครอบงำ

จากนั้นนายเสรี อภิปรายต่อว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ถูกมองว่าทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก แต่เข้าใจคนร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาดี หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใด สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขหลายฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน สมัครสมานสามัคคีกันจึงจะแก้ไข หากใส่ร้ายเสียดสี ไม่เกิดความสามัคคี ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ขณะที่นายขจิตร ประท้วงประเด็นที่กล่าวหา ส.ส.ใช้เทคนิคประท้วงเบรคการอภิปราย และกรณีกล่าวหา ส.ส.ในอดีต จ่ายเงินให้ ส.ว.โดยประธานรัฐสภาชี้แจงว่า การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นสิทธิ์ของสมาชิก และการประท้วงก็เป็นสิทธิ์เช่นกัน จะมองว่าเป็นวิธีการขัดขวางการอภิปรายไม่ได้

นายเสรี สรุปตอนท้ายว่า การพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรพิจารณาให้สมประโยชน์ประชาชนทั้งประเทศ แต่ทั้ง 6 ญัตติ ทำให้เกิดคำถามเยอะ และสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้รับการปรึกษาหรือให้การพิจารณาก่อน จึงมีคำถามเยอะ หากมีโอกาสดูรายละเอียดมากกว่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์การพิจารณา แต่หากพูดเสียดสีกัน กล่าวหา ส.ว.ในทางเสียหาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีทางสำเร็จ .- สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตักบาตรปีใหม่

ปชช.ร่วมตักบาตรวันปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคล

ประชาชนร่วมกิจกรรมตักบาตร​ รับปีใหม่ 2568 เนืองแน่น​ “สุดาวรรณ” เผยตัวเลขสวดมนต์ข้ามปี กว่า 12 ล้านคน พร้อมเชิญชวนสักการะพระเขี้ยวแก้ว ถึง 14 ก.พ.นี้

“SIAM PARAGON THE MAGICAL COUNTDOWN CELEBRATION 2025”

สยามพารากอนคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่กำลังสนุกสนานกับบทเพลงจากเหล่าศิลปินดังที่มาเพิ่มความสุขด้วยบทเพลงและโชว์สุดอลังการ

ประชาชนเนืองแน่น ไหว้พระเขี้ยวแก้ว-สวดมนต์ข้ามปี

ประชาชนยังหลั่งไหลสักการะพระเขี้ยวแก้ว ทำบุญ รอสวดมนต์ข้ามปี ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยปีนี้กรมการศาสนาร่วมกับภาคีเครือข่ายและวัดทั้ง 76 จังหวัด จัดสวดมนต์ข้ามปี

ข่าวแนะนำ

ผลสำรวจยอดฮิต

ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจ 10 อันดับยอดฮิต – ยอดแย่ ปี 2567

ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจ 10 อันดับอะไรยอดฮิต – อะไรยอดแย่ แห่งปี 2567 มาดูกันว่าปีที่ผ่านมา มีอะไรที่ฮิตสุดๆ และมีอะไรที่ถูกจดจำในทางลบบ้าง

เคาท์ดาวน์ปีใหม่

ทั่วไทยเคาท์ดาวน์คึกคัก เฉลิมฉลองต้อนรับศักราชใหม่ 2568

ทั่วไทยคึกคัก เฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ต้อนรับศักราชใหม่ 2568 หลายพื้นที่จัดงานยิ่งใหญ่ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่แห่เข้าร่วมกิจกรรมคับคั่ง

ตักบาตรปีใหม่

ปชช.ร่วมตักบาตรวันปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคล

ประชาชนร่วมกิจกรรมตักบาตร​ รับปีใหม่ 2568 เนืองแน่น​ “สุดาวรรณ” เผยตัวเลขสวดมนต์ข้ามปี กว่า 12 ล้านคน พร้อมเชิญชวนสักการะพระเขี้ยวแก้ว ถึง 14 ก.พ.นี้