รัฐสภา 14 ก.ย.- “ไพบูลย์” ยื่นค้านการบรรจุญัตติแก้รธน.อีก 4 ญัตติของฝ่ายค้าน ชี้เข้าข่ายลงลายมือชื่อซ้ำ อาจขัดรธน.ม. 256 อ้างคำสั่งศาล รธน.ตอนลงลายมือชื่อยื่น ให้ตรวจสอบร่างพรบ.งบประมาณ 2563 เตรียมชงสภาเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ด้านเลขา “ชวน” ชี้ส.ส.มีสิทธิลงชื่อญัตติเสนอกม.คนละฉบับได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎ รับเรื่องไว้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติเข้าสู่สภา เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1/4 ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งมีการบรรจุญัตติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว และเมื่อวันที่ 10 กันยายน พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 4 ญัตติ และทราบว่ามีรายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนอญัตติ 4 ญัตติดังกล่าวซ้ำกันเอง และซ้ำกับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยื่นไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การลงลายมือชื่อซ้ำดังกล่าวกระทำไม่ได้ เพราะจะทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ที่ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา ซึ่งความเห็นนี้เป็นไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องของการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 77 คน เรื่องที่เคยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วพบว่ามีรายมือชื่อส.ส.ซ้ำกัน
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากมีการบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าระเบียบวาระ ของรัฐสภาอาจมีปัญหา เรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้มีการตรวจสอบข้อกฎหมาย และวันพุธที่ 16 ก.ย. จะเสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาให้ร่วมกันพิจารณาขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) การประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพศ 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 45 ว่าการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายชื่อซ้ำกับญัตติร่างที่ยื่นไว้ถือเป็นการลงลายมือชื่อซ้ำหรือไม่ และเห็นว่าหากปล่อยให้ยื่นได้หลายฉบับเช่นนี้จะกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่และประสิทธิภาพของการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา จะต้องเสียเวลาในการลงมติโดยไม่สิ้นสุด
ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีการเสนอญัตติก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายสำนักประธานจะตรวจสอบรายละเอียดว่าจะญัตติดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ โดยดูว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยื่นรายชื่อครบถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากเป็นการเสนอญัตติหรือร่างกฎหมายคนละฉบับก็สามารถลงรายชื่อใหม่ได้.-สำนักข่าวไทย