รัฐสภา 10 ก.ย.- “ธัญวัจน์” ย้ำต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม. 27 จี้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียมทุกเพศสภาพ รับความหลากหลาย เพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสังคม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(10 ก.ย.) รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิจาณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จะอภิปราย 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ หลักประกันความเสมอภาค มาตรา 27 ที่คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่าการตัดว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันจะไม่ส่งผลกระทบต่อใดๆ เพราะมีบัญญัติคำว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ซึ่งเพียงพอแล้ว และเห็นด้วยกับความเห็นในวรรค 1 เพราะความจริงแล้วคำว่าชายหญิงไม่ครอบคลุมเพศในสังคมที่หลากหลาย รวมถึงบุคคลที่มีเพศกำเนิดที่กำกวม Intersex ที่วันนี้พูดถึงน้อยมาก แต่เป็นกลุ่มที่มีอยู่จริง แม้จะจำนวนไม่มาก แต่กฎหมายควรคุ้มครองทุกคนให้เท่าเทียมกัน
นายธัญวัจน์ กล่าวว่า ส่วนมาตรา 27 วรรค 3 คณะกรรมาธิการฯ ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งวรรค 3 เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม โดยอยากให้บัญญัติเพิ่มคำว่า เพศสภาพและเพศวิถี และเปลี่ยนคำว่า เพศ เป็นเพศกำเนิด เพราะปัจจุบัน เพศมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ชายหญิงทั่วไป และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องมองเห็นประชาชนในความหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่ชายหญิง ส่วนในวรรค 4 ที่บัญญัติประเด็นมาตรการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ อยากให้ บัญญัติคำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลังคำว่า สตรี เพราะปัจจุบัน ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังอยู่ในกฎหมายระบบ 2 เพศที่มีหลายสิ่งหลายอย่างต้องได้รับการส่งเสริมความเสมอภาคต่อไป ในการออกมาตราการของรัฐ ดังนั้น จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติไม่ได้
นายธัญวัจน์ อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการตัด “ชายหญิง” ในวรรค 2 ด้วยเหตุผลว่าไม่จำเป็น เพราะคำว่า “ชายหญิง” ไม่ครบถ้วนอยู่แล้ว และขอเสนอ 3 คำในวรรค 3 เพศกำเนิด เพศสภาพ เพศวิถีซึ่งจะครอบคลุมกว่า ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่ดีมาก ๆ แต่น่าเสียดายตรงหมวด 6 นโยบายรัฐ มาตรา 71 ที่ทางกรรมาธิการไม่ได้มีข้อเสนอการแก้ไข ซึ่งทราบดีว่านโยบายรัฐจะเป็นสิ่งที่ถูกคิดขึ้นหรือไม่คิดก็ได้ ไม่ตายตัว จึงใช้คำว่ารัฐพึงเสริมสร้างบ้าง รัฐพึงส่งเสริมบ้าง แต่ในมาตรา 71 วรรคสุดท้าย บัญญัติไว้ว่า “ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างของเพศวัย และสภาพบุคคล เพื่อความเป็นธรรม ส่วนวรรคสุดท้ายย้ายหมวดไปเป็นหน้าที่ของรัฐ เพื่อเปลี่ยนคำว่า รัฐพึงคำนึงเป็นรัฐมีหน้าที่ เพราะสิ่งที่จะส่งเสริมให้คนเท่ากันในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่พึงกระทำ
“การบอกว่าคนเท่ากันมันทำให้ไม่เห็นปัญหา แต่รัฐต้องมองว่า คนเราไม่เท่ากัน และจะทำอย่างไรให้เท่ากัน เพราะความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำทาง สิทธิ เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม และ การเมือง“ ธัญวัจน์ กล่าว
นายธัญวัจน์ อภิปรายว่า ตัวอย่างหมวดหน้าที่ของรัฐนั้น อาจพูดถึงวินัยการคลัง แต่ไม่พูดถึงสินทรัพย์ที่ประเมินค่าไม่ได้เลยของประเทศคือ “ประชาชน” แนวคิดการจัดสรรงบประมาณนโยบายเพื่อตอบสนองทุกเพศสภาพ Gender Responsive Budgeting จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ และเสริมสร้างอัตราการเกิดของประชากร เมื่อมีประชากรมากขึ้น จะเกิดปัจจัยการผลิต ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และอีกแนวคิดที่ต้องทำควบคู่กันคือการจัดสรรงบประมาณตามช่วงอายุ Gender Responsive Policy Making Budgeting ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความหลากหลาย มีหน้าที่โอบอุ้มซึ่งกันและกัน
“การโอบรับความหลากหลายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ ทำให้งบประมาณแผ่นดินเป็นงบประมาณที่ปลูกมนุษย์ไม่ใช่งบประมาณกินมนุษย์อย่างทุกวันนี้ คือทรัพยากรที่มีค่าที่ประเมินไม่ได้ ที่หน้าที่รัฐไม่ได้พูดถึงเลย” นายธัญวัจน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย