24 ส.ค. – ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมแก้ไขเหตุบอกเลิกจ้างเอกชนปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย รพ.วังน้อย ให้ผู้รับเหมาเดินหน้า ส่วนเรื่องค่าปรับฟ้องศาล
สนง.ผู้ตรวจฯ วันนี้ ( 24 ส.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน หารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยงานเกี่ยวข้อง และผู้ร้องเรียนกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยายกเลิกสัญญาจ้างเอกชนดำเนินโครงการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังกลุ่มกิจการร่วมค้าภูมิชนก-เคมิคอลไดนามิคส์วังน้อย ผู้รับเหมาก่อสร้าง ร้องเรียนขอความเป็นธรรม ถูกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งมีวงเงินก่อสร้างกว่า 15 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนหลายหน่วยงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อหาข้อยุติปัญหาหลังยืดเยื้อมากว่า 5 ปี แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า ในวันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจัดการประชุมระหว่างผู้ร้องเรียนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ผู้ได้รับผลกระทบ เผยว่า ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายกรณี เช่น ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากผู้ควบคุมงานแจ้งให้รอแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งทำให้การเริ่มต้นก่อสร้างล่าช้าไปกว่า 2 เดือน กรณีการไม่ได้รับอนุมัติแบบแปลนในการก่อสร้าง กรณีการรุกล้ำที่ดินและการรังวัดที่ดินของโรงพยาบาลวังน้อย และการสำรวจภูมิประเทศ และกรณีการขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาในสัญญา
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าปรับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าจ้างได้มีหนังสือเร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ประชุมร่วมกับผู้รับจ้างเพื่อติดตามการดำเนินงานของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างได้มีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าปรับให้ผู้รับจ้างทราบ แต่ผู้รับจ้างยืนยันจะปฏิบัติตามสัญญาให้แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างจึงมีหนังสือเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา และมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าปรับจะเกิน 10% ของวงเงินค่าจ้างแล้ว แต่ผู้รับจ้างยังไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนกระทั่งระยะเวลาล่วงเลยมานานทำให้มีค่าปรับจำนวนมาก และผู้ว่าจ้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงมีความเห็นให้บอกเลิกสัญญาจ้าง
ทั้งนี้พบว่าปัญหาการสื่อสารและความเข้าใจในระเบียบของทางราชการเกิดความคลาดเคลื่อนจนทำให้ปัญหานั้นยืดเยื้อ วันนี้ที่ประชุมจึงได้มีมติสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา เป็น 2 ประเด็น คือให้หน่วยงานที่บอกยกเลิกสัญญาจ้างไปดำเนินการต่อตาม ม.391 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม และสิทธิตามสัญญาจ้าง โดยงานส่วนใดที่ผู้รับจ้างดำเนินงานไปแล้วเสร็จให้คิดค่าจ้างให้ตามสมควร ส่วนกรณีพิจารณาลดค่าปรับ เนื่องจากได้มีการยกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว ตามระเบียบข้อกฎหมายไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ จึงควรนำเรื่องดังกล่าวสู่กระบวนการทางศาล เพื่อพิจารณาลดค่าปรับต่อไป .- สำนักข่าวไทย