ทำเนียบรัฐบาล 3 ส.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมกก.แม่น้ำโขง หารือเรื่องสปป.ลสาวเตรียมสร้างเขื่อนสานะคามห่วงกระทบคนไทย กำชับวิเคราะห์ทุกประเด็น พร้อมเห็นชแบทำ MOU ความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างสองประเทศ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางและท่าทีของฝ่ายไทยกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เตรียมก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคามที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) แล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงได้หารือ ศึกษา วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะ ประเด็นข้อห่วงกังวล มาตรการ และแนวทางร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่าง ๆ
“รัฐบาลไทยมีความห่วงใยผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากที่ตั้งของเขื่อนสานะคามอยู่ใกล้ชายแดนไทยมาก มีระยะห่างเพียง 2 กิโลเมตร เท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญเชิงลึกกับทุกประเด็นทางเทคนิค อาทิ ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ตะกอนและสัณฐานแม่น้ำ ประมงและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยเขื่อน การเดินเรือ และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนพิบัติ และการใช้งานเขื่อน เป็นต้น” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และผลักดันประเด็นข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนในด้านนโยบายจากรัฐบาล และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่จะต้องนำประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนไปพิจารณาเป็นเงื่อนไขการซื้อขายไฟฟ้าด้วย เพื่อให้เกิดกลไกป้องกัน ลดและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เร่งสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ภาคประชาชน
“ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดเวทีให้ข้อมูลในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงจำนวน 4 ครั้ง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ที่ จ.เลย ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม จ.บึงกาฬ ครั้งที่ 3 เดือนธันวาคม จ.มุกดาหาร และครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม จ.เลย หรือจ.หนองคาย ซึ่งจะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งเพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการเชิญผู้แทน สปป.ลาว เพื่อมาให้ข้อมูลและตอบคำถามภาคประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามแผนงาน (Roadmap) จะมีการยืดหยุ่นระยะเวลาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันด้วย โดยต้องเอื้อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงให้ได้มากสุด” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยและสปป.ลาว เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการอาคารประกอบ หรือเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่างและส่งผลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้ทันเวลา ซึ่งไทยยังสามารถใช้กลไกนี้ในการให้ความช่วยเหลือสปป.ลาวด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลและถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการด้านทรัพยากรน้ำอีกด้วย
“ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง 2 ประเทศ และยกระดับความร่วมมือจากระดับหน่วยงานเป็นระดับรัฐบาล โดยให้มีผลผูกพันตามข้อตกลง รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ให้การสนับสนุนเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนริมน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมรับทราบผลการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในปี 2562 ซึ่งสทนช.ได้ศึกษาและติดตามตรวจสอบ โดยเน้นการเผยแพร่ผลการศึกษาที่ผ่านมาแก่ภาคประชาชน และอบรมเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดให้เข้ามามีส่วนร่วมการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง รูปแบบการดำรงชีวิตและความเปราะบางของประชาชน และการปรับตัวของประชาชน ทั้งนี้ ภาคประชาชนเสนอโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์พืชในแม่น้ำโขงเพื่อบรรเทาปัญหา
“ที่ประชุมให้สทนช.ร่วมกับกรมประมงดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและสนับสนุนการปรับตัวของประชาชน รวมทั้งให้สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนแผนการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม” เลขาธิการสทนช. กล่าว.-สำนักข่าวไทย