ศาลฎีกา 25 ก.ค.-ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยาน 3 ปาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคที่ “ทักษิณ” อ้างอิงและแพทย์รพ. ทันณสถานฯ ส่งเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ “นพ.ประสิทธิ-นพ.ไชยรัตน์-นพ.กีรติ” ให้การทิศทางเดียวกันอาการป่วย “ทักษิณ” ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ยกวิธีการรักษาของแพทย์ ไม่ได้เร่งรักษาทันทีทันใด ชี้หลังผ่าตัดกลับไปรักษาที่ รพ.เรือนจำได้ ไม่ต้องรักษายาว 180 วัน
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยคดีนี้มีอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ และมีนายทักษิณ เป็นจำเลย
การไต่สวนในวันนี้ถือว่า เป็นนัดที่ 6 โดยเริ่มในเวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นการไต่สวนตัวแทนจากแพทยสภา ที่ศาลสั่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคของนายทักษิณ เข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 3 ปาก เช่น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา, ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภา, ศ. นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมงในการไต่สวน และภาพรวมเบิกความทิศทางเดียวกันที่ชี้ว่าอาการป่วยไม่ถึงเข้าขั้นวิกฤติ และเมื่อได้รับการรักษาแล้วสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่ทัณฑสถานเพื่อรอดูอาการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษานานต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจ
การไต่สวน ศ.นพ.ประสิทธิ์ อุปนายกแพทยสภา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนใหญ่เป็นการซักถามข้อมูลด้านการรักษาผู้ป่วยในฐานะแพทย์ พร้อมทั้งให้ดูเอกสาร และให้ความเห็นใบบันทึกการตรวจร่างกายนายทักษิณ ที่ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ที่ตรวจร่างกายนายทักษิณ บันทึกไว้ในวันที่ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
และใบบันทึกการอาการของพยาบาลเวร ในสถานกักกันโรค เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่รับตัว จนถึงจังหวะที่นายทักษิณมีอาการจนต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ว่าในภาพรวมมีอาการรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต เฉียบพลันหรือไม่ นอกจากนี้ยังให้ดูบันทึกการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเพิ่งจะส่งมาให้ศาลในวันนี้ และใบเสร็จค่ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งยาที่ใช้ในการรักษาโรคด้วย
ศาลยังได้สอบถามถึงการออกใบรับรองแพทย์เป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ และยังถามถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติ ซึ่งมีอาการเหมือนกับนายทักษิณ เพื่อให้ความเห็นว่าอาการของนายทักษิณมีข้อบ่งชี้ว่า มีภาวะวิกฤติหรือไม่ ซึ่งภาพรวมการเบิกความศ.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า นายทักษิณ ไม่ได้มีอาการวิกฤตจนต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลา แต่อาจยกเว้นเฉพาะช่วง กรณีที่มีการผ่าตัด
จากนั้น ศ.นพ.ไชยรัตน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานปากนี้ประมาณ 40 นาที ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นหลักการรับตัวผู้ป่วยเข้ารักษาในห้องไอซียู โทรสอบถามว่าอาการป่วยของนายทักษิณนั้นมีข้อบ่งชี้ว่าเข้าข่ายอาการวิกฤติหรือไม่ โดยภาพรวมพยานคนนี้เบิกความโดยอ้างอิงจากใบบันทึกการรักษาของแพทย์โรงพยาบาบตำรวจ ที่ไล่เรียงเวลา และวิธีการรักษาของแพทย์แล้วชี้ว่า อาการของนายทักษิณไม่ได้วิกฤต เพราะไม่ได้มีการตรวจโรคที่อ้างถึงแบบทันทีทันใด เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ การเอ็กซเรย์ปอด หรือ การตรวจเอนไซม์โปรตีนในหัวใจ รวมทั้งยารักษาโรคที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการรักษาผู้ป่วยทั่วไป
ส่วนพยานคนสุดท้าย ศ.นพ.กีรติ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อต่อ ศาลใช้เวลาซักถามประมาณ 20 นาที สาระสำคัญที่มีการเบิกความ คือการประเมิน ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก เกี่ยวกับการผ่าตัดนิ้วเล็อค และเอ็นไล่ฉีก ว่าในการรักษาไม่จำเแนต้องรักษาแบบทันทีทันใด แต่สามารถนัดผ่าตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องประเมินจากความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงเมื่อมีการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยโดยทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องรักสุดรักษาตัวในโรงพยาบาล สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ แต่ก็ยอมรับว่า การรักษาตัวต่อ ก็ต้องมีการอ้างอิงข้อมูลโรคที่ผู้ป่วยเป็นประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บางช่วงการซักถาม ของทนายฝั่งจำเลย พยายามถามถึงเรื่อง มติของแพทยสภา มีส่วนเกี่ยวข้องกับพยานที่มาเบิกความหรือไม่ และถามถึงการเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่มีคล้ายโน้มน้าวให้ลงมติแพทย์ 3 คน ที่รักษานายทักษิณ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ตอบเนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นการไต่สวนในครั้งนี้ เพราะศาลไต่สวนพยานทั้งสามคนในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเท่านั้น
ทั้งนี้มีพยานได้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย พล.ต.ท.นพ.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ , พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ พ.ต.อ.นพ.ชนะ จงโชคดี ขณะเดียวกันในห้องพิจารณาคดีในเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจเข้ามาร่วมฟังการไต่สวนด้วย
ส่วนการไต่สวนพยานนัดถัดไปวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ พยานปากเดียว คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นพยานของนายทักษิณชินวัตรตามที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ยื่นเสนอต่อศาลพิจารณา -สำนักข่าวไทย