กกต. 16 ก.ค.- สว.สำรอง ยื่น กกต. เร่งรับสำนวนคดีฮั้วเลือก สว. จากชุดสืบสวนไต่สวนฯ ก่อนพิจารณาชี้ขาดส่งศาลฎีกาโดยเร็ว กังวลใจหากสำนวนถึง กกต.ชุดใหญ่ จะเหลือผู้ถูกดำเนินคดีไม่กี่คน
กลุ่ม สว.สำรอง นำโดย พล.ต.ท.คํารบ ปัญญาแก้ว เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้พิจารณาเร่งรับสำนวนคณะสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 ที่ทำคดีฮั้วเลือก สว. ก่อนสรุปสำนวน เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว ก่อนนำเสนอศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งต่อไป การยื่นหนังสือในครั้งนี้กลุ่ม สว.สำรองเห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก คณะสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 ซึ่งประกอบด้วย ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธาน และมีกรรมการระดับ ผอ. สำนักของ กกต. และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระดับรองอธิบดี และผู้อำนวยการสำนัก และผู้อำนวยการฝ่ายเป็นกรรมการรวม 7 คน ซึ่งนับว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี ทำการสืบสวนไต่สวนจนสามารถกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องได้ถึง 229 คน ประกอบกับสำนวนการสืบสวนไต่สวนนี้เริ่มจากการที่ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อมูลมายังสำนักงาน กกต. ตามหนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 3 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นต้นเรื่องที่ กกต. ถือเป็นความปรากฏ
อีกทั้ง มีการตั้งกรรมการสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 ขึ้น เพื่อดำเนินการโดยตรง และระหว่างดำเนินการคณะสืบสวนไต่สวนก็ได้มีการปรึกษาหารือกับ กกต. ทั้งคณะมาโดยตลอดแล้วก็ได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ในมาตรา 76, 77 และ 79 และอื่นๆ รวมทั้งการกันตัวบุคคลบางคนเป็นพยานตามมาตรา 65 ดังนั้นเรื่องราวในการสืบสวนไต่สวนนี้จึงถือได้ว่า กกต. ทั้งคณะได้รับรู้รับทราบมาโดยตลอดด้วยตนเอง
กลุ่ม สว.สำรอง จึงมีข้อเสนอแนะในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้ ตามขั้นที่ 2 ที่ทางสำนักงาน กกต. โดยมีรองเลขาธิการฯ ที่รับผิดชอบในการจัดทำความเห็นนั้น ควรใช้เวลาไม่นาน คือไม่เกิน 3 วัน เพราะชุดคณะสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 นั้นดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้นและมีหัวหน้าเป็นรองเลขาธิการ กกต. เช่นเดียวกัน และมีการรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้วอย่างครบถ้วน ทั้งบุคคลพยานเอกสาร เช่น โทรศัพท์ และเส้นเงิน รวมทั้งข้อมูล AI
ส่วนขั้นที่ 3 ซึ่งตามปกติจะต้องมีการตั้งอนุวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งนั้นเนื่องจากการดำเนินการของคณะ สืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 นี้ กกต. ทั้งคณะเป็นผู้พบเหตุความปรากฏด้วยตนเอง และรับรู้เห็นชอบดำเนินการมาอย่างใกล้ชิดโดยตลอด จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะอนุวินิจฉัยขึ้นมาพิจารณาอีก ซึ่งเป็นไปตามความในระเบียบการสืบสวนไต่สวนของ กกต. ในข้อ 74 ซึ่งกำหนดไว้ว่า กกต. อาจตั้งคณะอนุวินิจฉัยขึ้นมาพิจารณา ซึ่งหมายถึงไม่ตั้งอนุวินิจฉัยขึ้นมาก็ได้ และก็สอดคล้องกับระเบียบเดียวกันในข้อ 78 ที่ กกต. สามารถสั่งการเป็นอย่างอื่น คือยกเว้นให้เลขาธิการ กกต. สามารถเสนอสำนวนมายัง กกต. ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคณะอนุวินิจฉัย
กลุ่ม สว. สำรอง ยังเห็นว่าเรื่องการทุจริต สว.นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็นต้องปกปิดความลับในสำนวน และรักษาความปลอดภัยพยานบุคคลไว้อย่างที่สุด เชื่อว่ามีความสมบูรณ์ของการดำเนินการในสำนวนแล้ว จึงเห็นควรไม่ต้องเสนอสำนวนผ่านคณะอนุวินิจฉัยอีก โดย กกต. ทั้งคณะควรรีบเร่งในการพิจารณาโดยเร็วอย่างมีความรับผิดชอบ และไม่มีการละทิ้งหน้าที่โดยการชิงลาออกของ กกต. บางคน ตามที่เป็นข่าว และขอให้มีการบันทึกรายละเอียดเหตุผลในคำวินิจฉัยเพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในคดีนี้ที่มีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อไปถึงในชั้นคณะกรรมการ กกต. อาจจะเหลือผู้ถูกดำเนินคดีเพียงไม่กี่คน กังวลในเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.ท.คํารบ กล่าวว่า ก็กังวลอยู่เช่นกัน เพราะพบว่ามีความพยายามจะลดทอนในกลุ่มของผู้บริหารพรรคการเมือง และกลุ่มของ สว.ที่เข้าไปทำงานในสภาฯขณะนี้ ซึ่งตามกฏหมายแล้วควรจะมีการเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งขอบกลุ่ม สว. 138 คนในสภาฯ ตามาตรา 62 และ กกต.คงไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้ ถ้าพยานหลักฐานตามปรากฏควรเชื่อได้ว่า ซึ่งมองว่า การไปวิ่งเต้นทางคดี หากดูตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นไปได้ยาก หรือ กกต.จะไปเล่นกล คนไทยทั่วประเทศคงไม่ยอม -สำนักข่าวไทย