ทำเนียบ 6 พ.ค.-ครม. รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ สทนช. ขอติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568) จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุป
1)ด้านสภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน ช่วงวันที่ 2 – 7 พฤษภาคม 2568 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ยังคงมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
2)ด้านสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568)
2.1สถานการณ์แหล่งน้ำปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำทุกขนาดทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 45,714 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุเก็บกัก มากกว่าปี 2567 จำนวน 1,982 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.2อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่เฝ้าระวังน้ำมาก ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกัก จำนวน 29 แห่ง (จากทั้งหมด 369 แห่ง) ดังนี้ ภาคเหนือ 6 แห่ง (จาก 79 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง (จาก 189 แห่ง) ภาคตะวันออก 1 แห่ง (จาก 44 แห่ง) ภาคใต้ 6 แห่ง (จาก 22 แห่ง)
ทั้งนี้ สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือนและจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
ขณะที่สถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568) สถานการณ์ภาพรวมมีระดับน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง 10.07 ถึง 11.90 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว และยังไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชน
โดย สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และในฐานะสมาชิกคณะทำงานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือล้านข้างแม่โขง ด้านสาขาทรัพยากรน้ำ (Lancang Mekong Cooperation Joint Working Group : LMC JWG) ได้ตรวจสอบสถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยยังไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางน้ำและกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการผลิตน้ำประปาของชุมชนริมแม่น้ำโขง ทั้งนี้ หากเกิดผลกระทบ สทนช. จะเร่งประสานคณะกรรมการแม่น้ำโขง และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน พิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง เพื่อเพิ่มระดับน้ำแม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป
ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 มติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/ 2568 ได้เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปี 2568/2569 โดย สทนช. ได้บูรณากาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการดังกล่าว ทั้งการตรวจสถานะความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยของทั้งประเทศ จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เปราะบางที่มีความเสี่ยง ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังการรับมือภัยด้านน้ำ
นอกจากนี้ สทนช. ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พื้นที่ลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ โดย สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการลุ่มน้ำองค์กรผู้ใช้น้ำ และ สทนช. ภาค 3 เพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งติดตามการปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดลดความเสี่ยงอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีด้วย.-315.-สำนักข่าวไทย