รัฐสภา 18 ธ. ค.-สภาฯ ถก “กม.อำนาจเรียกของ กมธ.” ด้าน หมอชลน่าน ชี้รวมคำว่า “กรรมาธิการสามัญของรัฐสภา” อาจขัดรัฐธรรมนูญ แนะกลับไปใช้ร่างเดิมจะมีประโยชน์กว่า ส่วน “ประยุทธ์” แจงระบุไว้เพื่อให้ กม.นี้มีผลบังคับใช้ ยันไม่ได้เขียนแบบสุขเอาเผากิน ขณะที่ “โรม” ย้ำไม่ขัด-แย้งรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “พิเชษฐ์” สั่งโหวตมาตรา4 ทันทีไม่สน “ชลน่าน” ขู่มีคนร้องศาล รธน.แน่
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ….ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายในมาตรา 4 บทนิยามคำว่ากรรมาธิการ ว่า ในร่างของกมธ.ฯ ที่ไปแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ ซึ่งตนเห็นว่าการแก้ไขของกมธ.ฯน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงที่มีอยู่ เพราะจากร่างเดิมของสภาฯที่รับไป เขียนให้ครอบคลุมกรรมาธิการ นิยามของกรรมาธิการมีกรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญ กรรมาธิการร่วมกัน ของสภาฯและวุฒิสภา และกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกรณีที่มีการประชุมร่วมกันในนามรัฐสภา มีอำนาจเรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารได้ แต่ กมธ.ฯ ไปเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ว่า กรรมาธิการหมายความว่าคณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ วุฒิสภา หรือรัฐสภา ถ้าเขียนอย่างนี้หมายความว่ารัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนฯ มีกรรมาธิการสามัญประจำของแต่ละสภา
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จึงอยากถามว่ารัฐสภาเรามีกรรมาธิการสามัญประจำรัฐสภาหรือ เพราะตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีบทบัญญัติที่เขียนให้รองรับกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา เพราะฉะนั้นถ้าเขียนอย่างนี้จะเหมารวมว่ารัฐสภาสามารถตั้งกรรมาธิการสามัญได้ ตามกฎหมายฉบับนี้ และอาจจะไปออกข้อบังคับมารองรับ แต่สิ่งที่ต้องให้สอดรับคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ซึ่งมาตรานี้เขียนชัดเจนไม่มีคำว่ารัฐสภาอยู่เลย ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ วุฒิสภาหรือตั้งกรรมาธิการร่วมกัน แม้แต่กฎหมายที่เขียนรองรับเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้เขียนในมาตรา 129
“ฉะนั้นผมเห็นว่าถ้าเขียนอย่างนี้ จะเหมารวมว่ารัฐสภาสามารถมีกรรมาธิการสามัญประจำรัฐสภาได้ ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และเห็นว่าควรเอาคำว่า”หรือรัฐสภา”ออกแล้วรักษาถ้อยคำเดิมเอาไว้ หรือกลับไปร่างเดิมจะเกิดประโยนช์มากกว่า” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้านนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ฯ ชี้แจงว่า เห็นตรงกันว่าการมีคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญนั้นเกิดเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญมาตรา 129 แต่ข้อเท็จจริงคือมีกรรมาธิการที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137(3) เป็นกรรมาธิการร่วมกันในกรณีที่ตัดสินใจในเรื่องของความเห็นต่างๆ ซึ่งทางกมธ.ฯ ได้พยายามหาความพอดี ถ้าไม่เขียนแบบนี้กรณีที่จะคุ้มครองไปถึงให้อำนาจกรรมาธิการร่วมกันได้หรือไม่ เพราะเกิดขึ้นคนละมาตรา ถ้าเขียนตามาตรา 129 ก็จะมีข้อจำกัดเปิดช่องว่างตามมาตรา 137(3) ทางกมธ.ฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนแบบนี้
“จริงๆแล้วคำนิยามไม่สามารถที่จะลบล้างน้ำหนักของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือน้ำหนักในกฎหมายอื่นได้ เพียงแต่ให้กฎหมายฉบับนี้มีสภาพบังคับเท่านั้น ซึ่งก็เห็นด้วยในความเป็นห่วงของท่าน แต่โอกาสที่จะเขียนเป็นอย่างอื่น ผมยืนยันได้เลยว่าพวกเราไม่ได้สุกเอาเผากิน แต่ก็ใช้ความพยายามที่จะสรรหาถ้อยคำให้เกิดความสมบูรณ์พอสมควร”นายประยุทธ์กล่าว
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ฯ ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องให้ความกระจ่าง เพราะเราถกเถียงในกมธ.ฯเช่นเดียวกัน การที่เราเติมคำว่า “หรือรัฐสภา”เป็นเรื่องของการให้ความหมายแทนคำว่า “กรรมาธิการร่วมกัน” ให้ครอบคลุมกัน ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่ากรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรสามารถที่จะใช้อำนาจเรียกนี้ได้ ในขณะที่กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาไม่สามารถใช้ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงกรรมาธิการของรัฐสภามีอำนาจน่าจะสูงกว่าด้วยซ้ำ
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ว่าการเพิ่มเติมตรงนี้เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนขอเรียนว่ากรณีนี้ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเลย ส่วนการตีความจะไม่รวมไปถึงกรณีจะให้มีกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา การที่เราจะมีกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่มันเป็นกฎหมายอื่น กรณีนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจเรียก ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา กฎหมายนี้ ไม่ได้มีอำนาจให้เราไปจัดตั้งกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา ตามหลักกฎหมายจึงจะรวมแค่กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเท่านั้น
ส่วนนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้องสส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกมธ.ฯ ชี้แจงว่า กมธ.ฯได้พิจารณาอย่างรอบด้าน หยิบยกเรื่องเดียวคือเรื่องของการประชุมของกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา จะเห็นได้ว่าการประชุมร่วมมีอยู่จริง เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ คือ พ.ร.บ.อำนาจเรียกฯฉบับนี้ด้วย และบางเรื่องเราจะเอามาตรา 4 ไปเข้าใจว่าเราจะต้องคณะกรรมการสามัญ หรือวิสามัญ ไม่ได้ เพราะบางเรื่องก็ไม่ต้องเอาคำจำกัดความไปตีความในเรื่องของอำนาจในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญของสภาฯและคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา แต่ในส่วนของสภาฯ เรามีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ของวุฒิสภามี 21 คณะ ทั้งนี้ยังจากตนฟังจากหลายฝ่ายยอมรับว่าจะต้องเติมคำว่า”รัฐสภา”เข้าไปเพื่อให้ควบคุม ถ้าไม่เติมเข้าไปกฎหมายอำนาจเรียก ก็จะใช้ไม่ได้ ซึ่งเราได้พิจารณารอบด้านแล้ว
ทั้งนี้นพ.ชลน่าน อภิปรายเพิ่มเติมว่า ถ้าเราไปให้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่ามีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และถ้าศาลวินิจฉัยว่าสิ่งที่เราทำไปขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นตนคิดว่ามีหลายประเด็นที่กมธ.ฯ น่าจะกลับไปทบทวนได้ มันไม่ได้สายที่เราจะพิจารณาร่วมกัน หรือถ้าจะกลับไปร่างเดิม ที่อาศรัยมาตรา 129 เป็นหลัก กฎหมายก็เดินหน้าได้ เพราะอยากให้โหวตไปแล้วเป็นประเด็น แล้วให้กมธ.ฯไปหารือกัน
แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ไม่ได้สนใจ โดยให้ที่ประชุุมลงมติทันที ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับกมธ.ฯ เสียง 383 ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 8 เสียง
จากนั้นพิจารณามาตราอื่นตามลำดับ กระทั่งมาตรา 14 ที่มีประชุมมติเห็นชอบกมธ.เสียงข้างมาก 398 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 3เสียง ที่ระบุว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียกตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 โดยไม่มีเหตุอันสำควรให้ประธานคณะกรรมาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และแจ้งให้ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณีทราบด้วย ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมาธิการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการดำเนินการเสร็จสิ้น
ส่วนมาตรา 14/1 เป็นมาตราเพิ่มขึ้นใหม่ เกี่ยวกับโทษ ในกรณีที่บุคคลซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก ไม่ส่งเอกสาร ไม่มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อกรรมาธิการ โดยไม่มีเหตผลอันสมควร ให้ถือเป็นความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1 หมื่นบาทและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้ประธานรัฐสภาออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยและการผ่อนชำระเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
หลังที่ประชุมพิจารณาเสร็จสิ้นลงมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกฯ 398 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง.-319.-สำนักข่าวไทย